มกอช. ชง (ร่าง) ระเบียบตามสอบสินค้าเกษตรมะกันฉบับใหม่ฯ การันตีความน่าเชื่อถือการรับรองมาตรฐานของไทยตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการส่งออก เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้มอบหมายให้นายปราการ วีรกุล ที่ปรึกษา มกอช. เป็นประธานการประชุมหารือผลกระทบและข้อคิดเห็นต่อ (ร่าง) ระเบียบย่อยว่าด้วยการเก็บบันทึกข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับสำหรับอาหารบางชนิด (Requirements for Additional Traceability Records for Certain Foods) ของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และสมาคมผู้ส่งออกผักและผลไม้ไทย เพื่อพิจารณาผลกระทบของ (ร่าง) ระเบียบย่อยฯ ต่ออุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศไทย และร่วมจัดทำความเห็นต่อร่างระเบียบย่อยดังกล่าว ทั้งนี้ การจัดทำความเห็นต่อร่างระเบียบย่อยดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่สหรัฐอเมริกา โดยหน่วยงานองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (U.S.FDA) ได้ประกาศร่างระเบียบย่อยภายใต้ Section 204 (d): Additional Recordkeeping Requirements for High Risk Foods ของกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงความปลอดภัยอาหารให้ทันสมัย (Food Safety Modernization Act (FSMA) ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานของอาหารที่มีความเสี่ยงสูงภายใต้ Food Traceability List (FTL) ได้แก่ ผู้ผลิต (ระดับฟาร์ม) ผู้แปรรูป ผู้บรรจุหีบห่อ และผู้เก็บรักษา ต้องบันทึกและจัดเก็บขอมมูลตามสอบกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารในรายการที่สหรัฐฯ พิจารณาว่ามีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคในอาหาร เช่น ผักผลไม้สด สินค้าประมงสด เป็นต้น เพื่อให้สามารถตามสอบ หรือติดตามตรวจสอบย้อนกลับได้ในกรณีที่พบการระบาดของเชื้อก่อโรคในอาหารไปจนถึงระดับผู้ผลิตระดับฟาร์ม โดยเบื้องต้น มกอช. คาดว่าระเบียบดังกล่าวจะประกาศฉบับสมบูรณ์ (Final regulation) ภายในปี 2564 - 2565 ซึ่งจะมีการกำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อการปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก (Small business) และขนาดเล็กมาก (Very-small business) เป็นเวลา 1 และ 2 ปี ตามลำดับ หลังจากประกาศให้ร่างระเบียบย่อย มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย (Effective date) ปัจจุบันสหรัฐฯ นำเข้าอาหารเพื่อการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 20 และประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่สำคัญ โดยมีมูลค่าส่งออกถึงปีละกว่า 1.2 แสนล้านบาท ทำให้อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทยมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการจัดทำข้อมูลตามสอบที่ต้องอยู่ในรูปแบบดิจิทัล และการเก็บรักษาข้อมูลจนถึงระดับแหล่งผลิตขั้นปฐมภูมิ ซึ่งที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นที่เป็นประโยชน์ เช่น ความพร้อมด้านฐานข้อมูลตามสอบและใบอนุญาตของเรือประมงพื้นบ้าน โดยกรมประมงได้ให้ความสำคัญต่อการยกระดับการควบคุมและป้องกันปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ภายใต้พระราชกำหนดการประมงอย่างต่อเนื่อง ประเด็นการตีความรายสินค้าและสถานประกอบการที่จะได้รับผลกระทบ หากกฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ตลอดจนถึงแนวทางเตรียมความพร้อมเกษตรกรรายย่อยที่เข้าเกณฑ์ต้องให้ข้อมูลตามสอบ โดยมีต้นแบบการปฏิบัติจากกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้ เป็นต้น มกอช. ในฐานะหน่วยงานผู้ประสานงานหลักด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของไทยจะรวบรวมจัดทำข้อคิดเห็นเพื่อแจ้งต่อ U.S.FDA พร้อมทั้งติดตามสถานะของการประกาศร่างกฎหมายฉบับสมบูรณ์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งแลกเปลี่ยนแนวทางเตรียมความพร้อมอย่างมีส่วนร่วมต่อไป สหรัฐอเมริกา ถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญของไทย มีมูลค่าเฉพาะ การนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากประเทศไทย การปรับปรุงระเบียบว่าด้วยการจัดทำข้อมูลตามสอบกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีความเสี่ยงสูง ถือเป็นความท้าทายในการยกระดับฐานข้อมูลตามสอบสินค้าเกษตรและอาหารของผู้ประกอบการภายในประเทศ เข้าสู่การจัดทำข้อมูลตามสอบผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งจะทำให้มีความรวดเร็วในการติดตามป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งภายในประเทศและสินค้าส่งออก และเป็นการการันตีความน่าเชื่อถือในการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรของประเทศไทยตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงสินค้าแปรรูปว่า มีทั้งคุณภาพและความปลอดภัย มีความพร้อมต่อตลาดส่งออกมาตรฐานสูง ซึ่งนอกจากการส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิตแล้ว "ปัจจุบัน มกอช.ได้ยกระดับขีดความสามารถของหน่วยรับรองระบบงาน หรือ Accreditation สินค้าเกษตรและอาหารของ มกอช. จนเป็นที่ยอมรับของ U.S.FDA ภายใต้กฎหมายการปรับปรุงความปลอดภัยอาหารให้ทันสมัย (Food Safety Modernization Act: FSMA) และกำลังขยายขอบข่ายให้ครอบคลุมทั้งอาหารทะเล อาหารที่มีความเป็นกรดต่ำ และน้ำผลไม้ จากเดิมที่ได้รับการรับรองความเท่าเทียมในขอบข่ายการควบคุมเชิงป้องกันสำหรับอาหารมนุษย์ หรือ Preventive Controls for Human Food จากสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศแรกของโลกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม2561" เลขาธิการ มกอช. กล่าว