ชลประทานบุรีรัมย์ งดปล่อยน้ำทำนาปรัง หวั่นเจอวิกฤตแล้งซ้ำรอยปีที่ผ่านมา ถึงขั้นประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดิบผลิตประปาต้องผันน้ำจากแหล่งอื่น ขณะเกษตรกรในเขตชลประทานก็ให้ความร่วมมือหันปลูกพืชอายุสั้นและผักสวนครัวแทน วันนี้ (15 ก.พ.64) ถึงแม้ปีนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญที่ใช้เป็นน้ำดิบในการผลิตประปาหล่อเลี้ยงเขตเศรษฐกิจ และประชาชนในเขตอำเภอเมืองบุรีรัมย์ และอำเภอห้วยราชบางส่วน จะมีน้ำกักเก็บเกือบรวมกันมากถึง 35 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณความจุอ่างรวมกัน 56 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ทางโครงการชลประทานก็ไม่มีนโยบายปล่อยน้ำให้เกษตรกรทำนาปรัง เนื่องจากต้องสำรองน้ำไว้ใช้ในการผลิตประปาให้เพียงพอตลอดทั้งปี ทั้งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาวิกฤติแล้งขาดน้ำแคลนน้ำดิบผลิตประปาซ้ำรอยปีที่ผ่านมา จนหลายหน่วยงานต้องทำการสูบผันน้ำจากแหล่งอื่นมาเป็นน้ำดิบผลิตประปาแทน ขณะที่เกษตรกรในเขตชลประทาน ในพื้นที่ตำบลบ้านบัว อ.เมืองบุรีรัมย์ ก็ให้ความร่วมมืองดการทำนาปรังหันมาปลูกพืชอายุสั้น และผักสวนครัว ไว้บริโภคและขายเป็นรายได้เสริมเลี้ยงครัวเรือน เช่นต้นหอม ผักชี คึ่นไช่ แตงกวา แตงโม และข้าวโพด เพราะเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีอายุสั้นเพียง 2 – 3 เดือน ก็สามารถเก็บผลิตขายได้แล้ว แต่หากทำนาปรังก็จะเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำหล่อเลี้ยงซึ่งจะทำให้ผลผลิตเสียหายได้ โดยนายสุนทร วอนรัมย์ เกษตรกร บอกว่า หลังจากปีที่ผ่านมาประสบปัญหาน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก และห้วยตลาดแห้งขอด ทำให้ไม่สามารถสูบผลิตประปาได้ จนต้องมีการไปสูบน้ำจากแหล่งน้ำมาผลิตประปาแทน ปีนี้เกษตรกรจึงงดการทำนาปรังหันมาปลูกพืชอายุสั้นและใช้น้ำน้อยแทน เพื่อช่วยกันประหยัดให้มีน้ำเพียงพอผลิตประปา โดยพืชอายุสั้นที่ปลูกบางคนก็ใช้น้ำจากคลองธรรมชาติ บางคนก็ขุดสระสำรองไว้ แต่หากรวมกันเป็นกลุ่มก็สามารถไปขอน้ำจากทางโครงการชลประทานได้