นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการเพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนค่าทำศพและเงินสงเคราะห์กรณีถึงแก่ความตาย สำหรับบุคคล ที่ไม่ใช่ลูกจ้าง แต่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ว่า ขณะนี้พระราชกฤษฎีกา กำหนดหลักเกณฑ์และอัตรา การจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับ ประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป โดยใจความสำคัญคือ การแก้ไขเพิ่มอัตราเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์กรณีตาย ในการจ่ายประโยชน์ทดแทนให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ดังนี้ -เพิ่มค่าทำศพให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่จ่ายเงินสมทบ (ทางเลือกที่ 1 และ 2) เข้ากองทุนประกันสังคม เดือนละ 70 บาท หรือเดือนละ 100 บาท ในกรณีถึงแก่ความตาย จะได้รับเงิน ค่าทำศพในอัตราใหม่เป็น 25,000 บาท (เดิม 20,000 บาท) ให้บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุ ให้เป็นผู้จัดการศพ และได้เป็นผู้จัดการศพ หรือสามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตน ซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพหรือบุคคลอื่นซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน -เพิ่มเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ถึงแก่ความตาย เป็นอัตราใหม่ 8,000 บาท (เดิม 3,000 บาท) ต่อเมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 เดือน ก่อนเดือนที่ถึงแก่ความตาย โดยมีหลักเกณฑ์ในการจ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์นั้น แต่ถ้าผู้ประกันตนมิได้ทำหนังสือระบุไว้ให้นำมาเฉลี่ยให้แก่สามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตน ในจำนวนที่เท่ากัน -เพิ่มค่าทำศพให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่จ่ายเงินสมทบ (ทางเลือกที่ 3) เข้ากองทุนประกันสังคม เดือนละ 300 บาท ในกรณีถึงแก่ความตาย จะได้รับค่าทำศพ ในอัตราใหม่ เป็น 50,000 บาท (เดิม 40,000 บาท) ต่อเมื่อภายในระยะเวลา 12 เดือน ก่อนเดือนที่ถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 6 เดือน สำหรับประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ให้ได้รับเงินค่าทำศพ และเงินสงเคราะห์ในอัตราที่สูงขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน และเป็นการสร้างหลักประกันให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จูงใจให้แรงงานภาคอิสระที่ยังไม่ได้รับ ความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้นอีกด้วย