ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า...โควิด 19 วัคซีน ความหวังในการฟื้นฟู เศรษฐกิจ คือ วัคซีน ค่าตรวจวินิจฉัย และการดูแลรักษา รวมทั้งการสูญเสียทางเศรษฐกิจ มีราคาแพงกว่ามาก เมื่อเทียบกับการให้วัคซีน ไม่ต้องเสียเวลา คิดว่า คุ้มหรือไม่คุ้ม จากการศึกษาในประเทศอิสราเอล เป็นประเทศที่ได้รับวัคซีนต่อจำนวนประชากร มากที่สุด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ข้อมูลตั้งแต่หลังปีใหม่มา อุบัติการป่วยในผู้สูงอายุลดลงอย่างเห็นได้ชัด อัตราการเสียชีวิตก็ลดลง และเมื่อมาให้ในผู้ที่มีอายุน้อยลง การแพร่กระจายของโรคก็จะน้อยลง เมื่อส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานแล้ว โอกาสในการเปิดประเทศ การสร้างความเชื่อมั่น ก็จะตามมา ทุกอย่างก็จะกลับคืนมา ดังนั้นการให้เร็วเท่าไหร่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็จะเร็วเท่านั้น เราน่าจะลองให้วัคซีน เช่นให้ทั้งจังหวัดภูเก็ต หรือเกาะสมุย และมีมาตรการในการดูแลคนเข้าออก ใครเข้าออกจะต้องมีภูมิต้านทานแล้ว เชื่อว่าเศรษฐกิจของทั้งสอง จะฟื้นขึ้นมาอย่างแน่นอน ไวรัสนี้จะไม่หมดไปอย่างแน่นอน และจะอยู่กับเราตลอดไป เราจะต้องปรับตัวด้วยการสร้างภูมิต้านทานด้วยวัคซีน ถึงแม้ว่าจะติดเชื้อก็ต้องไม่เป็นโรค หรือไม่รุนแรงเข้าโรงพยาบาล กลุ่มสุดท้าย ที่จะได้รับวัคซีน คือกลุ่มเด็ก จากเด็กโตไปหาเด็กเล็ก แต่ถ้าไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมที่หลบหลีกวัคซีน จะต้องมีการกระตุ้นวัคซีนอีก หรืออาจจะต้องให้เป็นระยะแบบไข้หวัดใหญ่ และในอนาคตถ้าประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน และมีภูมิต้านทานเป็นส่วนใหญ่แล้ว โรคนี้ก็จะเกิดในเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาแล้ว ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง และก็จะเป็น คล้ายกับไวรัสโคโรน่าตามฤดูกาล ที่พบในเด็กอยู่ในขณะนี้ หรือ ในอนาคต ถ้าเป็นในเด็กแล้วรุนแรง อย่างเช่นโรค หัด เด็กทุกคนก็จะต้องได้รับวัคซีน และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีภูมิต้านทาน อย่างในปัจจุบันที่เรากำลังรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันหัดในเด็ก เพื่อให้โรคเหลือน้อยที่สุดหรือหมดไป