แม้การรวมตัวสมาชิกเพื่อจัดตั้งสหกรณ์จะทำให้เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ในเรื่องการผลิตแล้ว แต่การรวมกลุ่มสมาชิกแปลงใหญ่เพื่อจัดตั้งสหกรณ์ดูเหมือนจะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่กว่า เพราะจะทำให้มีการวางแผนบริหารจัดการง่ายตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ รวมถึงการหาตลาดจำหน่ายผลผลิต ผ่านทางผู้จัดการแปลง “การรวมเป็นสหกรณ์ทำให้เกิดพลังในเรื่องของการผลิตของเกษตรกร อย่างที่เราได้เรียนรู้กันตั้งแต่แรกว่าเกษตรกรไทยเราต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างคุย ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แนะนำให้เกษตรกรรวมตัวกันผลิตเป็นลักษณะแปลงใหญ่ ก็คือ ใช้ทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน มีผู้จัดการแปลง ดูแลแปลง วางแผนตั้งแต่เรื่องการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จนถึงการจัดจำหน่าย” นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงแปลงใหญ่สหกรณ์ที่ผ่านการรวมตัวกันของเกษตรกรตั้งแต่ 30 คนขึ้นไปในการรวมแปลงที่อยู่ใกล้กันตั้งแต่ 300 ไร่ขึ้นไปที่ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์พยายามที่จะส่งเสริม สนับสนุน ให้กลุ่มแปลงใหญ่เหล่านี้จัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ขึ้นมา เพื่อที่จะให้เขาได้มีอำนาจในเรื่องของการต่อรองในการที่จะบริหารจัดการ ช่วยกัน และเป็นแปล่งทุนให้กับแปลงใหญ่ รวมถึงเอาทรัพยากรต่างๆที่มี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ เครื่องจักร รถไถ การบริหารจัดการน้ำต่างๆ เพื่อที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ยกตัวอย่างแปลงใหญ่สหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างเช่นแปลงใหญ่สหกรณ์ผู้ปลูกถั่วเหลืองที่จ.เชียงใหม่ที่วันนี้มีความพร้อมทั้งวัตถุดิบถั่วเหลือง ทั้งเรื่องของนวัตกรรม เครื่องมือ เครื่องจักรกล โดรน รถไถ รถพรวนดิน ที่กรมฯได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลก็จะนำลงไปสู่แปลงใหญ่ ทั้งนี้เพื่อต้องการลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร รวมถึงการหาตลาดจำหน่ายผลผลิต ผ่านกลไกด้านราคาที่เป็นธรรม จากแหล่งผลิตถึงโรงงาน โดยไม่ผ่าน พ่อค้าคนกลาง “มีบริษัทต่างๆที่เขาทำเรื่องเกี่ยวกับการผลิตถั่วเหลือง เอาถั่วเหลืองไปเป็นอาหารมารวบรวมรับซื้อผลผลิตกันไป และก็มีการตกลงราคากันตั้งแต่ต้นว่ารับซื้อกันที่ราคาเท่าไหร่ ตรงนี้แหละเป็นเรื่องที่เกษตรกรได้รับราคาที่แน่นอน ความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น การผลิตของเขาก็มีประสิทธิภาพขึ้น และดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ดีไปด้วย”วิศิษฐ์กล่าว อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีเกษตรแปลงใหญ่ที่รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์ มีประมาณ 500 กลุ่ม จาก 490 กว่าสหกรณ์ที่รวมกันเข้ามาเป็นแปลงใหญ่ที่อยู่ในระบบสหกรณ์ ซึ่งมีทั้งพืชและสัตว์ อย่างเช่นแปลงใหญ่แพะ แปลงใหญ่โคเนื้อ โคนม ส่วนพืชก็มีหลากหลาย นอกจากถั่วเหลืองแล้วก็มียางพาราและผลไม้ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้พยายามส่งเสริม สนับสนุนให้กลุ่มแปลงใหญ่เหล่านี้เข้ามาเป็นสหกรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ยอมรับว่าส่วนหนึ่งที่แปลงใหญ่ที่ไม่ยอมเข้ามา เพราะเขาอาจจะคิดว่าเป็นความยุ่งยากในการบริหารจัดการ แต่เราพยายามที่จะบอกเขาว่า เมื่อเข้ามาแล้วจะมีการสอนนำเรื่องการบริหารจัดการ การรวมกลุ่มให้มีพลัง ไม่ใช่ว่าได้อุปกรณ์เครื่องมือจากทางรัฐไปแล้ว หลังจากนั้นไม่มีการดูแลจะเป็นความสูญเปล่าของภาครัฐ ของงบประมาณที่เราลงไปให้กลุ่มแปลงใหญ่เหล่านี้ “เราจึงอยากให้เขารวมตัวเป็นสหกรณ์ และจดทะเบียนมีระบบการตรวจสอบที่แน่นอน มีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ หน่วยงานต่างๆในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือภาคเอกชนทที่เข้าไปส่งเสริมแปลงใหญ่ให้ได้ผล ไม่ใช่ว่าเฉพาะของกรมส่งเสริมสหกรณ์อย่างเดียว กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร หรือภาคเอกชนที่ต้องการผลผลิตเข้าสู่ระบบของเขา เขาก็สามารถที่จะมาส่งเสริมตรงนี้ได้”วิศิษย์กล่าวเชิญชวน ทั้งนี้เมื่อเขาสามารถรวมตัวจัดตั้งเป็นสหกรณ์ได้เป็นนิติบุคคลในรูปแบบสหกรณ์ หรือนิติบุคคลในรูปแบบของกลุ่มเกษตรกรได้สำเร็จก็จะสร้างพลังให้กับแปลงใหญ่ สหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมแปลงใหญ่วัดเพลง จำกัด อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี ภายใต้การนำของ "สมเกียรติ ประพฤติกิจ" ประธานเกษตรแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมวัดเพลง บอกเล่าถึงที่มาของการยกระดับแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมและนำมาสู่การเป็นสหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมแปลงใหญ่วัดเพลง จำกัด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแปลงใหญ่สหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จ จนส่งออกผลผลิตไปจำหน่ายทั่วโลก เขายอมรับว่าจุดดีของแปลงใหญ่ นอกจากรวมแปลงแล้วยังเป็นการรวมคนด้วย ทำให้ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องเดียวกัน ที่สำคัญยังได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเต็มที่ “คนนี้มีความรู้นิด คนนี้มีความรู้หน่อย มาร่วมประชุม ร่วมอบรม มาแลกเปลี่ยนความรู้ จากที่เราไม่รู้อะไร ก็รู้ในเรื่องของการเก็บมะพร้าว และรัฐบาลก็เข้ามาดูแลช่วยเหลือ มีวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ มาให้ความรู้ และ เราก็สามารถต่อรองสินค้ากับบริษัทได้ จากเดิมเราไม่สามารถต่อรองได้” ประธานเกษตรแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมได้ ชี้ให้เห็นข้อดีของแปลงใหญ่ สมเกียรติ ยอมรับว่า หลังจากหันมาทำเกษตรแปลงใหญ่ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในด้านต่างๆ ทั้งแหล่งเงินทุน เครื่องมือจักรกลต่างๆ ในการนำมาใช้ในกระบวนการผลิต และงมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ มาให้ความรู้อยู่ตลอดเวลา “หลังเข้าร่วมแปลงใหญ่ก็เริ่มพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ จากหน่วยงานที่มาให้ความรู้ จากเมื่อก่อนมะพร้าวใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง ใส่ครั้งละ 2 กิโลต่อต้น วันนี้ใส่ไม่เกินโลครึ่งต่อต้น ทำให้ลดต้นทุนได้ระดับนึง”เขาเผยข้อมูลและยอมรับว่าคนที่ยังไม่กล้าก้าวมาอยู่จุดนี้ก็ยังไม่เชื่อ แต่หากคนที่ก้าวมาอยู่จุดนี้แล้วจะพบว่าได้รับผลประโยชน์จากหน่วยราชการ ได้รับประโยชน์มากๆ จากการเข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ อย่างไรก็ตามสหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมแปลงใหญ่วัดเพลง จำกัด ถือเป็นสหกรณ์ที่ตั้งในพื้นที่แปลงใหญ่มะพร้าว ที่ผ่านมาได้มีการแลกเปลี่ยนและเสนอแนวทางให้สหกรณ์พัฒนาแนวทางในเรื่องของการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ โดยพยายามเชื่อมโยงตลาดทั้งภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ รวมทั้งการรวมกันซื้อ-รวมกันขาย โดยเฉพาะการจัดหาปัจจัยการผลิตที่ใช้ในแปลงมะพร้าวของสมาชิกสหกรณ์ได้รวมเป็นกลุ่มแปรรูปมะพร้าว ซึ่งสมาชิกกลุ่มได้มีการแปรรูปเป็นน้ำมะพร้าวแท้ 100% ขนมข้าวหลามในมะพร้าวอ่อน ซึ่งขายส่งและขายปลีกเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ในขณะที่สหกรณ์มีการเพาะพันธุ์มะพร้าวจำหน่ายในราคาตันละ 85 บาท โดยผลิตจากต้นแม่พันธุ์ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี จึงมีคุณภาพและสายพันธุ์ที่แท้ 100% และที่สำคัญมีจุดเด่นด้านการพัฒนาคุณภาพของสายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมก้นจีบ ที่ให้น้ำมะพร้าวที่มีความหอม หวาน รสชาติดี ลูกโต ในขณะที่พันธุ์มะพร้าวที่สหกรณ์นำมาจำหน่าย ได้จากการรวบรวมมะพร้าวจากต้นแม่พันธุ์อายุมากกว่า 30 ปี ซึ่งสหกรณ์รับประกันในเรื่องคุณภาพและราคากับสมาชิก