ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ชีวิตก็เหมือนดินฟ้าอากาศ เปลี่ยนแปรตลอดเวลาและเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน พ่อของสมเกียรติตายด้วยเหตุการณ์ “คล้ายอุบัติเหตุ” แต่ตำรวจก็คลี่คลายคดีไม่ได้ (เหมือนกับทุก ๆ คดีที่ตำรวจทำไม่สำเร็จ ถ้าไม่ชนตอก็ไม่มีสาระที่จะจูงใจให้ทำ อย่างสมัยนี้ถ้าไม่มีสื่อหรือกระแสคอยกระตุ้นก็ปล่อยให้คดีเงียบไป) แต่สมเกียรติพอรู้เพราะพ่อเล่าให้ฟังถึงคนที่พ่อทำงานเกี่ยวข้องด้วยอยู่เป็นประจำ ซึ่งอีกหลายปีต่อมาคน คนนั้นก็ตายด้วยเหตุการณ์คล้ายอุบัติเหตุเช่นกัน หลังจากที่พ่อตาย สมเกียรติยังคงดูแลกิจการส่งออกของกินของใช้ที่ส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน คือพม่า ลาว และเขมร และมีการนำเข้าสินค้าจากบางประเทศซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยขาดแคลนในบางฤดูกาล เช่น ถั่วเหลืองจากประเทศจีน เพราะนอกจากจะนำเข้ามาเสริมกำลังการผลิตให้กับโรงงานน้ำมันพืชต่าง ๆ แล้วยังมีราคาถูกกว่ามาก แต่ประเทศไทยก็มีกฎหมายควบคุมการนำเข้า เนื่องจากต้องการพยุงราคาภายในประเทศ(ให้แพงอยู่อย่างนั้น) ทำให้สมเกียรติต้องมาติดต่อกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อ “หาลู่ทาง” ในการนำเข้าให้สะดวกขึ้น และด้วยอุปนิสัยที่น่าคบหาของสมเกียรติทำให้เป็นที่รักใคร่ชอบพอกับข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์หลายคน สมเกียรติจึงได้รับ “คำแนะนำดี ๆ” มากมาย ข้อนำที่ดี ๆ ข้อหนึ่งนั้นก็คือ “ระบบโควตา” ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งของระบบการค้าโลกในสมัยนั้น อย่างที่เราพอทราบ ๆ กันว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกแบ่งเป็นสองขั้ว คือโลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพรัสเซีย กับโลกเสรีประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐอเมริกา อาวุธที่ใช้ต่อสู้กันอย่างหนึ่งก็คือการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาอีกหลายประเทศ ที่โดดเด่นคือประเทศญี่ปุ่นที่มีบทบาทอยู่ในเอเชีย และหลาย ๆ ประเทศในยุโรปที่มีการรวมตัวกันเป็นประชาคมยุโรป(ก่อนที่จะมาเป็นสหภาพยุโรปในปัจจุบัน) ทำให้การแข่งขันทางการค้ามีความรุนแรงมากขึ้น โดยที่บางประเทศคือสหรัฐอเมริกาและประชาคมยุโรปได้ใช้ระบบการให้ “สิทธิพิเศษทางการค้า” ที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า GSP ด้วยการยกเว้นภาษีให้กับการนำเข้าสินค้าหลาย ๆ ประเภท จากประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา(แต่ต้องเป็นพันธมิตรหรือยอมตัวเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯและประชาคมยุโรป)เข้าไปในสหรัฐกับประชาคมยุโรป ทั้งนี้ประเทศไทยก็อยู่ในข่ายของการได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวด้วย โดยสินค้าที่ไทยเราได้สิทธิพิเศษก็มีอยู่หลายรายการ แต่ที่เป็นสินค้าสำคัญ(และมีเรื่องราวฉาวโฉ่)ก็ได้แก่ มันสำปะหลัง และสิ่งทอ ตอนที่ผมไปทำงานเป็นหน้าห้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ใน พ.ศ. 2531 ด้วยความเป็นเด็กที่อายุยังไม่ถึง 30 ปี ทำให้ผมถูกมองว่า “ไร้เดียงสา” ในหมู่ข้าราชการและพ่อค้าจำนวนหนึ่ง พอได้รู้จักกับสมเกียรติที่มีอายุมากกว่าผมราวสิบปีก็ดูไม่ห่างกันมากนัก โดยปกติผมจะเรียกเขาว่า “คุณ” แต่ก็มีบ่อยครั้งที่เผลอเรียกว่า “เสี่ย” ตามที่คนทั่วไปเรียก หรือ “เฮีย” ตามที่คนใกล้ชิดเรียก ซึ่งพอสนิทกันมาก ๆ แล้ว ผมก็เรียกแกว่า “เฮีย” จนติดปาก ทั้งนี้แกก็นับถือผมเป็น “น้อง” เอาจริง ๆ เพราะแต่แรก ๆ ที่เรียกผมว่า “ท่านเลขาฯ” หรือ “ท่านก๊วยเจ๋ง” ก็เรียกว่า “น้องเจ๋ง” หรือ “น้องวี” อยู่บ่อย ๆ ซึ่งสมเกียรติก็ดูเหมือนจะทำตังเป็น “พี่ที่ดี” จริง ๆ เพราะได้ช่วยให้ผมทั้งได้ความรู้ในเรื่องการค้าขาย ที่รวมถึง “เล่ห์เหลี่ยม” (กลโกง) และ “วิทยายุทธ์” บางอย่าง ในการเอาตัวรอดและแก้ไขปัญหาทั้งในกระทรวงพาณิชย์และในชีวิตจริง สมเกียรติให้ข้อมูลผมว่า ในกระทรวงพาณิชย์นี้มี “เจ้าพ่อ - เจ้าแม่” อยู่จำนวนหนึ่ง โดยเจ้าพ่อเจ้าแม่เหล่านี้จะอยู่ในตำแหน่งที่มีหน้าที่ทำข้อมูลให้กับผู้บังคับบัญชาระดับอธิบดีและปลัดกระทรวง คุณสมบัติที่สำคัญของคนในตำแหน่งนี้ นอกเหนือจากจะต้องรู้กฎระเบียบและขั้นตอนการขออนุมัตินำเข้าส่งออกสินค้าต่าง ๆ เป็นอย่างดีแล้ว จะต้องรู้ “ช่องโหว่” ของกฎหมายเหล่านั้น ในอันที่จะ “อลุ้มอล่วย” ให้ความช่วยเหลือแก่พ่อค้าผู้นำเข้าและส่งออกตามสมควร เช่น อำนาจในการขยายเวลาที่จะนำเข้าหรือส่งออก จำนวนโควต้าของสินค้าที่มีจัดสรร การตรวจสอบคุณภาพและปริมาณสินค้า ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอำนาจของรัฐมนตรีที่แต่ละกรมกองจะเป็นผู้เสนอมา นั่นก็คือบรรดาเจ้าพ่อเจ้าแม่เหล่านี้จะมีสถานะเป็น “ต้นน้ำ” อธิบดีและปลัดกระทรวงเป็น “กลางน้ำ” และรัฐมนตรีเป็น “ปลายน้ำ” วิธีการก็คือ ทำอย่างไรจะให้น้ำทั้งสายนี้ไหลไปด้วยกันอย่างราบรื่น เพื่อที่จะไม่ให้มีปัญหาในการค้าขายและ “การทำมาหากิน” ผมถามสมเกียรติว่า ทำไมบรรดาเจ้าพ่อเจ้าแม่เหล่านั้นจึงยอมเสี่ยงที่จะกระทำผิดกฎหมายเช่นนั้น สมเกียรติไม่ตอบตรง ๆ แต่ยกอุทาหรณ์เป็นกรณีเทียบเคียงให้ผมได้คิดตามไปว่า สมมุติว่าเราเป็นบรรดาเจ้าพ่อเจ้าแม่เหล่านั้น ตอนที่เราเข้ามารับราชการใหม่ ๆ ก็คงจะมีอุดมการณ์และไฟแรง อยากทำงานให้ดีและถูกต้อง ในขณะเดียวกันก็อยากเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีความมั่นคง และที่สำคัญอยากร่ำรวยมั่งคั่ง พอดีกับที่ระบบราชการ ข้าราชการที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นจะต้องมีเจ้ามีนาย และก็ช่างบังเอิญที่เจ้านายของเราก็เจริญเติบโตมาในระบบ “คด ๆ งอๆ” เหล่านั้น เราเป็นลูกน้องก็ต้องลดเลี้ยวไปตามช่องทางที่คดงอเหล่านั้นตามไปด้วย ไม่เช่นนั้นเราก็จะไปไม่รอด และไม่บรรลุเป้าหมายอะไรสักอย่างในชีวิตราชการ สมเกียรติยังอธิบายต่อไปถึง “ระบบ” ในกระทรวงพาณิชย์ อย่างกับว่าเป็นข้าราชการเหล่านั้นเสียเอง ว่าข้าราชการกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุดก็คือ “พวกซีแปดซีเก้า” เพราะระดับซีแปดเป็นระดับบริหารที่มีความรับผิดชอบสูง และข้าราชการที่เป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ก็จะเริ่มสร้างอิทธิพลในตำแหน่งระดับนี้ เพราะเป็นต้นน้ำที่ต้องคอย “ชงเรื่อง” ต่าง ๆ เพื่อทำงานให้ “เข้าตา” รวมถึงต้อง “รู้ใจ” เจ้านาย ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้านายโดยตรงก็คืออธิบดี แต่อธิบดีก็มีอำนาจน้อยกว่าปลัดกระทรวง เพราะเมื่อถึงเวลาเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง แต่งตั้งโยกย้าย อธิบดีจะเป็นคนอนุมัติ แต่ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากปลัดกระทรวง เช่นเดียวกันกับพวกซี 9 ที่เป็นระดับรองอธิบดี ที่จะต้องหาทางให้ได้เป็นอธิบดีหรือซี 10 ด้วยการเสนอชื่อของปลัดกระทรวง โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี เพราะจะต้องเสนอแต่งตั้งให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ และเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป การแต่งตั้งระดับซี 9 ขึ้นซี 10 นี่เองที่เป็น “ระเบิดลูกโซ่” ให้แก่กระบวนการบริหารราชการ อันส่งผลต่อเนื่องถึงระบบการเมือง ที่รัฐมนตรีหรือนักการเมืองหลาย ๆ คนชื่นชอบขนาดหนัก เพราะถ้าหากควบคุมและสามารถใช้งานข้าราชการระดับนี้ได้อย่างเต็มที่แล้ว รัฐมนตรีคนนั้นก็จะถือได้ว่าประสบความสำเร็จสูงสุดในการทำงานการเมือง งานการเมืองไม่ใช่การทำงานรับใช้ประชาชน แต่เป็นการหาทางที่จะใช้ข้าราชการให้เป็นประโยชน์กับตน