วันที่ 11 ก.พ.64 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีที่ประชุมคณะกรรมการเทศบาลจังหวัดตรัง (กทจ.ตรัง) เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 ได้มีมติให้ไล่ออกราชการ นายปัญญา ภิรมย์ รองปลัดเทศบาลนครตรัง นายยงยุทธ เบญจวรางกูล ผู้อำนวยส่วนการโยธาและผังเมือง และนายสมมุ่ง จีนแก้วเปี่ยม นิติกร หลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความทางอาญาการผ่อนปรนค่าประกันสัญญาโครงการประมูลราคาให้เช่าอาคารโรงแรมตรังและการเช่าอาคารพาณิชย์ด้านล่างอาคารโรงแรมตรัง ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาบางรายยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง และพร้อมที่จะต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป
ล่าสุด นายวัลลภ ช่วยบำรุง ปลัดเทศบาลนครตรัง ปฎิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครตรัง เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า ขณะนี้เทศบาลนครตรัง ยังไม่ได้ไล่ออกข้าราชการที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ เนื่องจากยังไม่ได้รับแจ้งหนังสือเวียนมติ กทจ.ตรัง เป็นทางการ ถ้าได้รับหนังสือแล้วจะดำเนินการทันที
“ถ้าหากเขายังไม่ส่งเรื่องมาให้ เราก็ยังเดินไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะทราบผลแล้วก็จริงอยู่ แต่ถ้าหนังสือไม่มาเราก็ทำอะไรไม่ได้"
นายวัลลภ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการเช่าอาคารโรงแรมตรังนั้น อยู่ในขั้นตอนบังคับคดี ซึ่งเทศบาลนครตรังส่งเรื่องให้อัยการบังคับคดี เมื่อประมาณ 3-4 เดือนที่แล้ว และทางเทศบาลนครตรังได้วางเงิน เป็นเช็คค่าบังคับคดีไปแล้ว
เมื่อถามว่า กทจ.ตรัง มีมติไล่ออกในลักษณะนี้ ตามกฎหมายแล้ว จะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่เลยใช่หรือไม่ นายวัลลภ ชี้แจงว่า “โดยหลักการแล้วจะทำอย่างนั้นก็ได้ แต่ก็สังเกตเห็นว่าเรื่องนี้ยืดเยื้อมาตลอด เกิดการฟ้องร้องกันอิรุงตุงนัง เล่นกันทุกเรื่อง ฉะนั้นในส่วนของผมเองในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ เราเข้าใจตรงนั้นตรงกัน แต่ในเรื่องการปฏิบัติ กับเรื่องความรู้สึกมันแตกต่างกัน”
ขณะที่ นายศตพงษ์ สุนทรารักษ์ ท้องถิ่นจังหวัดตรัง กล่าวว่า มติ กทจ. อยู่ระหว่างขั้นตอนการเวียนลงมติ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ น่าจะส่งไปที่เทศบาลนครตรังได้
"หากมีการรับรองมติแล้ว ทางเทศบาลนครตรังต้องมีคำสั่งให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งหลังจากการเวียนมติแล้วก็ต้องให้เวลา อาจจะ 1 สัปดาห์ หรือ มากกว่านั้น ทั้งนี้ต้องอยู่ที่เทศบาลนครตรัง โดยหลักแล้วต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน"
ด้านนายกัมปนาท อินทองมาก หรือ “ทนายหมีนักตรวจสอบ” อดีตสมาชิกสภาเทศบาลนครตรัง กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2558 เทศบาลนครตรังมีความเสียหายจากกรณีดังกล่าว อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท ตนเคยถามเรื่องนี้ในสภาเทศบาลนครตรังมาโดยตลอด จนปี 2560 เทศบาลส่งเรื่องไปให้อัยการสั่งฟ้อง แต่อัยการส่งเรื่องกลับมายังเทศบาล เพราะทางเทศบาลไม่ได้คิดค่าเสียหายให้อัยการ ตนมองว่าเป็นการประวิงเวลามาเรื่อยๆ กระทั่งเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย กว่า 26 ล้านบาท ขณะที่จำเลยอุทธรณ์สู้คดีต่อ
“ในฐานะนักกฎหมาย ผมเห็นว่าต้องดำเนินการยึดทรัพย์เลย เพราะจำเลยไม่ได้ทำหนังสือขอทุเลาการบังคับคดี ซึ่งเมื่อไม่มีการขอทุเลาการบังคับคดี นั่นหมายความว่าเทศบาลนครตรัง มีสิทธิไล่ออก ยึดทรัพย์ เพื่อให้ได้เงินมา แต่ปรากฏว่าปล่อยให้ล่วงเลยมาเรื่อยจนในที่สุดก็อ้างว่าไม่สามารถทำได้ จนกระทั่งวันที่ 3 กันยายน 2563 ศาลพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหาย กว่า 26 ล้านบาทเช่นกัน และล่าสุดเมื่อคำนวนความเสียหายจนถึงเดือนมกราคม 2564 ปรากฏว่าเทศบาลได้รับความเสียหาย ถึงกว่า 47 ล้านบาทแล้ว”นายกัมปนาทกล่าว
ขอบคุณข้อมูล:สำนักข่าวอิศรา