นางสาวจิตติมา กันทอง พนักงานคุมประพฤติชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดยโสธร เปิดเผยว่าในช่วงการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมาศาลจังหวัดยโสธร มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกและปรับในคดีเมาแล้วขับทั้งสิ้นจำนวน 249 ราย โดยศาลจังหวัดยโสธรให้โอกาสผู้กระทำความผิดโดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติผู้กระทำผิดไว้ ซึ่งสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดยโสธรขอยกกรณีตัวอย่างคดีเมาแล้วขับในช่วงดังกล่าวจำนวน 3 ราย เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในการขับขี่กรณีเมาแล้วขับและโทษที่ได้รับ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน 1. เกิดเหตุเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 ในพื้นที่อำเภอไทยเจริญ โดยผู้ถูกคุมประพฤติได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในขณะเมาสุราโดยวัดปริมาณแอลกอฮอล์ได้ 57 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ศาลพิพากษามีโทษจำคุก 1 เดือน และปรับ 3000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายใน 1 ปี และให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์มีกำหนด 24 ชั่วโมง และให้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับกฎหมายจราจร และผลของการเสพสิ่งมึนเมาหรือสิ่งเสพติดที่มีต่อร่างกายและจิตใจ เพื่อความปลอดภัยในการขับรถอย่างน้อย 1 ครั้ง 2. เกิดเหตุเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 ในพื้นที่อำเภอเมืองยโสธร โดยผู้ถูกคุมประพฤติได้ขับรถยนต์ในขณะเมาสุราโดยวัดปริมาณแอลกอฮอล์ได้ 96 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ศาลพิพากษามีโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 4000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายใน 1 ปี และให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์มีกำหนด 24 ชั่วโมง และให้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับกฎหมายจราจร และผลของการเสพสิ่งมึนเมาหรือสิ่งเสพติดที่มีต่อร่างกายและจิตใจ เพื่อความปลอดภัยในการขับรถอย่างน้อย 1 ครั้ง และ 3. เกิดเหตุเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ในพื้นที่อำเภอทรายมูล โดยผู้ถูกคุมประพฤติได้ขับรถยนต์ในขณะเมาสุรา และขับรถโดยประมาทน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สิน โดยวัดปริมาณแอลกอฮอล์ได้ 305 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ศาลพิพากษามีโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 5000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายใน 1 ปี และให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์มีกำหนด 24 ชั่วโมง และให้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับกฎหมายจราจร และผลของการเสพสิ่งมึนเมาหรือสิ่งเสพติดที่มีต่อร่างกายและจิตใจ เพื่อความปลอดภัยในการขับรถอย่างน้อย 1 ครั้งโดยกรณีของผู้ถูกคุมความประพฤติรายที่ 3 นั้น ผู้ถูกคุมประพฤติได้ขับรถในขณะเมาสุรา ประสบอุบัติเหตุเฉี่ยวชนรถคันอื่นรวม 4 คัน ทำให้รถยนต์ของตนเองและบุคคลอื่นได้รับความเสียหาย บริษัทรับประกันภัยปฏิเสธการซ่อมแซมรถยนต์ของผู้จัดทำประกันภัยและชดใช้ค่าเสียหายให้กับรถยนต์ของคู่กรณีทั้ง 3 คันเนื่องจากจำเลยหย่อนสมรรถภาพในขับรถ และขับรถในขณะเมาสุรา ซึ่งจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายในการซ่อมรถให้คู่กรณีเอง เป็นเงินจำนวนกว่า 400,000 บาท และซ่อมแซมรถยนต์ตนเองอีก 75,000 บาท