ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
[email protected]
“สิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในชีวิตของคนเราสิ่งหนึ่งคือแรงบันดาลใจทางจิตวิญญาณ... สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่มีค่าที่อุบัติขึ้นอย่างลึกเร้นภายใต้สำนึกแห่งการรับรู้และรู้สึกที่ผสานเนื้อในระหว่างกันอย่างลึกซึ้งของตัวตนแห่งชีวิตกับมิติอันเป็นวัฏฏะของธรรมชาติที่กว้างใหญ่และเป็นเสรี ความงดงามของชีวิตเริ่มต้นอย่างดิ่งลึกขึ้นที่ตรงนี้ เริ่มต้นเงียบๆในจิตใจที่สังเกตเห็น... บนย่างก้าวแห่งความมุ่งมั่นอันสุขสงบของลมหายใจที่รื่นรมย์”
ปรากฏการณ์แห่งสำนึกคิดที่โน้มนำให้มนุษย์ได้มีผัสสะกับธรรมชาติอย่างใคร่ครวญและตรึกตรอง เพื่อเกิดเป็นภาพสะท้อนแห่งภาพสะท้อนที่ส่องประกายให้จิตวิญญาณของมนุษย์ในแต่ละคนได้กล้าแกร่งที่จะเหยียบยืนและเคลื่อนไหวไปบนวิถีแห่งชีวิตอย่างรู้สติ ถูกสื่อผ่านด้วยความชัดเจนในกวีนิพนธ์ของ “ฮั่นซาน” ซึ่งเป็นกวีนักพรตผู้อาศัยอยู่บนภูเขาเทียนไท้แห่งแผ่นดินจีนโบราณ ที่เต็มไปด้วยการปกคลุมของหิมะอยู่ทุกโมงยามชั่วนาตาปี
“ขุนเขายะเยือก” (Cold Mountain) เป็นมิติแห่งลมหายใจของการสดับรู้ทางจิตวิญญาณที่ถือเป็นดั่งตำนานอันลือเลื่อง... ที่ฮั่นซานได้จดจารจารึกไว้จนกลายเป็นตำนานแห่งการก่อเกิดภูมิปัญญาซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่พวกเซน... กวีนิพนธ์ร่วม 100 บทของฮั่นซานก่อเกิดเป็นรูปรอยทางใจ ส่งผลต่อการเป็นแบบฉบับแห่งแรงบันดาลใจทางจิตวิญญาณอันล้ำค่า ผ่านบุคลิกภาพอันประหลาดล้ำ “ผมยุ่งเหยิงเป็นกระเซิง ปล่อยเนื้อปล่อยตัว ไม่มีสำรวมอันใด” แต่ที่อยู่เหนือยิ่งไปกว่านั้นกลับเป็นบรรยากาศแห่งอิสรภาพและความสุขสงบอันลึกล้ำ... ที่ฉายประกายอันอบอุ่นและมีความหวังออกมา โดยมีฉากแห่งขุนเขาที่หนาวยะเยือกเป็นประดุจจุดก่อเกิดแห่งพลังที่หลอมรวมความเป็นชีวิตให้ปรากฏอาการแห่งการอยู่เหนือมิติแห่งการสัมผัส... อยู่เหนือโลกอันเป็นสามัญ... และอยู่เหนือชีวิตที่มืดบอดและหนาวเย็น... ปรากฏการณ์แห่งพลังใจดังกล่าวถูกสื่อสารผ่านกิริยาอาการของบุคคลผู้เป็นดั่งคนบ้าผู้นี้ทั้งในรอยยิ้ม ใบหน้า และดวงตา... แม้จะมีเสียงหัวเราะเยาะเวทนาในกิริยาอาการที่ปรากฏ แต่ฮั่นซานก็ได้ถ่ายทอดแบบฉบับของการดำรงอยู่และดำเนินไปแห่งชีวิตของเขาในฐานะปราชญ์ผู้อยู่เหนือโลกแห่งความเป็นสามัญ... แม้กาลเวลากว่าพันปีจะล่วงผ่าน แต่กวีนิพนธ์ของฮั่นซานก็ยังคงชี้ให้เห็นสัจธรรมแห่งความเป็นชีวิตมนุษย์ ที่ยังคงอ่อนด้อยทางภูมิปัญญาและน่าเย้ยหยัน มนุษย์ในอดีตเป็นอย่างไร... มนุษย์ ณ ปัจจุบัน... ก็ดูเหมือนจะยังเป็นอย่างนั้น... และดูเหมือนจะน่าเย้ยหยันมากกว่าหากจะวัดเอาจากสำนึกคิดของการรับผิดชอบต่อความผิดชอบชั่วดี... นั่นหมายถึงว่ามนุษย์มักหยุดอยู่กับที่ หยุดอยู่กับความเป็นตัวตนของตน โดยไม่ยอมที่จะก้าวไปสู่หนทางเบื้องหน้า... ไม่ยอมก้าวย่างไปสู่มิติที่ยากลำบากเพื่อแสวงหาประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคแห่งความทุกข์
“ข้าพเจ้าเดินตามหนทางสู่ขุนเขายะเยือก ทางสู่ขุนเขายาวไกลไม่รู้สิ้น ...หุบเขาเป็นแนวยาวดารดาษด้วยหิน...สายน้ำกว้างฟากฝั่งรกครึ้มด้วยหญ้า มีตะไคร่น้ำจับลื่นแม้ไร้ฝน ต้นสนถอนหายใจ แต่นั่นไม่ใช่เสียงลม ใครเลยจะอาจสลัดพ้นพันธนาการของโลกนี้... และมานั่งอยู่กับข้าพเจ้าในท่ามกลางเมฆขาว”
กวีนิพนธ์บทนี้ชี้ให้เห็นถึงว่าการก้าวย่างผ่านวิถีทางที่ยากลำบาก นับเป็นรางวัลที่ทำให้มนุษย์สลัดพ้นจากการยึดมั่นถือมั่นอันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์... หากมนุษย์เรียนรู้ที่จะเผชิญกับเงื่อนไขของอุปสรรค และตระหนักถึงความเป็นมายาภาพที่ห่อหุ้มตัวตนของมนุษย์อยู่ โดยเฉพาะความลุ่มหลงแห่งการยึดมั่นถือมั่นในบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ในมิติของ “ความจริงลวง” อะไรคือชีวิตที่แท้กันแน่... สิ่งนี้คือสิ่งที่ฮั่นซานพยายามจะอธิบายผ่านหัวใจอันเงียบสงบ... ผ่านพลังที่กลั่นออกมาจากส่วนลึกด้านใน มันคือสัญญะแห่งการก่อเกิดแง่งามแห่งชีวิตผ่านเนื้อแท้ของความเป็นบุคคลไม่ใช่เงาร่างแห่งมายาคติใดใด
“ผู้คนหัวเราะเยาะที่ข้าพเจ้าคล้ายคนบ้า ท่านเคยเห็นคนท่าทางโง่งมอย่างนี้ไหม แม้แต่หมวกก็ยังใส่ไม่ถูก เข็มขัดก็ดึงจนรัดกิ่ว แต่... ใช่ว่าข้าพเจ้าไม่รู้จักแบบแผนการแต่งตัว ... ยามเมื่อจนยากท่านก็ไม่อาจทันสมัยสักวันเมื่อข้าพเจ้าร่ำรวย ก็จะซื้อหมวกสูงเท่าพระเจดีย์องค์นั้น”
นี่คือการยอมรับในสถานะอันแท้จริงของชีวิตซึ่งแม้จะปลดปลงแต่ก็อยู่ในรูปรอยของความหวังและความเข้าใจที่กระจ่างชัด บุคลิกภาพของ “ฮั่นซาน” ดูไม่เป็นที่ยอมรับของคน ณ เวลานั้นเลย... กิริยาอาการรวมทั้งการแต่งกายของเขากลายเป็นความอึดอัดขัดใจซึ่งเป็นไปตามค่านิยมของคนส่วนใหญ่ที่สังคมแห่งการอยู่ร่วมกันยึดถือในกฎเกณฑ์ประเพณีที่ปรุงแต่งโดยไม่ได้ศึกษาหรือไถ่ถามถึงพันธนาการแห่งความเชื่อมั่นศรัทธาที่ครอบงำชีวิตและความเป็นตัวตนอย่างไม่รู้สิ้น... มันคล้ายดั่งเป็นการสยบยอมโดยไม่แข็งขืนที่จะเรียนรู้และต่อสู้เพื่อวิถีแห่งความเป็นตัวตนแห่งตน
“บนขุนเขาช่างหนาวยะเยือก หนาวเหน็บอยู่ตลอดปี... ยอดเขาสลับซับซ้อนปกคลุมด้วยหิมะ หมอกมวลคือลมหายใจอันต่อเนื่องของป่ารกครึ้ม... ผืนดินไร้หญ้างอกเงย กว่าจะถึงมิถุนา ใบไม้ร่วงหล่นก่อนสายลมแรกของฤดูใบไม้ร่วงจะมาถึง... ณ ที่นี้ ผู้สัญจรถึงคล้ายตกอยู่ในห้วงมายา... มองแล้วมองเล่าก็ยังไม่อาจแลเห็นท้องฟ้า”
ว่ากันว่าผู้ที่สนใจศิลปะจีนและญี่ปุ่นย่อมเคยได้เห็นรูปภาพของฮั่นซาน “บุรุษแห่งขุนเขายะเยือก” และรูปภาพของผู้เป็นสหายรักของเขา “ฉือเต่”... ลูกกำพร้า... ภาพที่ปรากฏเป็นภาพของ “บุคคลประหลาด” ที่ร่วมหัวเราะกันอยู่ในพงไพร... มันเป็นภาพของผู้ที่ยึดมั่นอยู่ในความสันโดษซึ่งเขียนขึ้นโดย “หลู่ซิวยิน” ข้าราชการในสมัยราชวงศ์ถัง... ภาพอาการแห่งความสุขและรื่นรมย์ของพวกเขาทั้งสองสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศที่ซ่อนลึกอยู่กับจิตวิญญาณด้านใน ซึ่งตรงส่วนนี้... เนื้อแท้แห่งการรับรู้และเป็นไปทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากข้อตระหนักในการค้นพบวิถีแห่งธรรมชาติที่ยึดพยุงชีวิตให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงและกระจ่างชัด... กับทุกๆขณะที่จิตยังคงรู้ตัวและเป็นอิสระ
“สำหรับตัวข้าพเจ้า ย่อมพึงใจอยู่ในชีวิตทุกขณะ ในท่ามกลางเถาวัลย์ หมอก และถ้ำผา ณ ที่นี้ในป่ารกชัฏ ข้าพเจ้ามีวิญญาณอิสระ ท่องเที่ยวพเนจรไปกับเมฆขาว มิตรร่วมหนทางนั้นมีอยู่
แต่มิได้นำไปสู่โลกเบื้องล่าง เมื่อไร้ใจ... ย่อมไร้ความคิดคำนึง ยามค่ำคืน ข้าพเจ้านั่งบนแท่นหินเพียงลำพัง ในขณะที่ดวงจันทร์กลมโตค่อยโผล่พ้นขุนเขายะเยือก”
ความรู้ตัวทั่วพร้อมที่ปรากฏอยู่ในกวีนิพนธ์แทบทุกบทของฮั่นซานสามารถชี้ให้เห็นถึงว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ล้วนมีบางสิ่งที่น่าใส่ใจและจดจำ โดยเฉพาะความเป็นอนิจจังของชีวิต หรือแม้กระทั่งรากฐานแห่งความเป็นไปของความทุกข์ระทมหม่นหมอง หรือแม้กระทั่งกับความตาย
“เหตุใดข้าพเจ้าจึงมักหม่นหมอง ชีวิตของมนุษย์คล้ายกับเห็ดในยามเช้า (ผุดงอกขึ้นมาและซบเซาร่วงโรยไปก่อนค่ำคืน) ใครจะอาจทนทาน ด้วยในช่วงเวลาไม่กี่สิบปี ได้เห็นมิตรสหายทั้งเก่าและใหม่ตายจากไป... เมื่อคิดถึงสิ่งนี้ ทำให้รู้สึกโศกสลด ความโศกสลดที่แทบไม่อาจทนทาน จะทำอย่างไรดี... จะทำอย่างไรดี พาสังขารชรานี้กลับสู่บ้าน ไปซ่อนตัวอยู่ในหุบเขา”
ดูเหมือนจะไม่มีผู้ใดรู้ว่าฮั่นซานเป็นใครมาจากไหน บ้างก็ว่าอดีตของเขาคือบัณฑิตสันโดษผู้ยากไร้ ซึ่งไปซ่อนตัวอาศัยอยู่ ณ สถานที่ที่เรียกว่า “ผาเหน็บหนาว” แห่งขุนเขาเทียนไท้... บ้างก็ว่าเขาไปอยู่ ณ ที่นั่น... ท่ามกลางขุนเขายะเยือกเมื่ออายุได้ 30 ปี... แต่บ้างก็ว่าเขาอยู่ที่นั่นนานถึง 30 ปี... ประวัติของ “ฮั่นซาน” ดูมีเพียงน้อยนิด แต่ก็มีข้อสันนิษฐานจากการตีความและแปลความกวีนิพนธ์ในแต่ละบทของเขาว่าเขามีชีวิตอยู่ระหว่างช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 15 แต่นั่นก็เป็นตัวตนของเขาอีกด้านหนึ่งที่ถูกตีความผ่านภาพลักษณ์และสำเนียงแห่งกวีนิพนธ์ของเขา... บางทีเขาอาจเป็นชาวนาผู้หนึ่ง ซึ่งมีปัญหาภายในครอบครัว และถูกประสบกับความยากจนอย่างแสนสาหัส ต่อมาจึงได้ออกร่อนเร่พเนจร... อาจเคยรับราชการในตำแหน่งเล็กๆ ก่อนที่จะเร้นกายละจากสังคมไปอยู่ ณ “ขุนเขายะเยือก”
“ถนนสายที่นำไปสู่ขุนเขายะเยือกช่างมหัศจรรย์ ไร้ร่องรอยของผู้สัญจรผ่านทาง ในหุบเขารุนแรงหนทางคดเคี้ยวลำบาก ยอดเขาสูงชันจนไม่อาจประมาณวัด มวลตฤณชาติร่ำไห้จนกลายเป็นหยาดน้ำค้างฉ่ำ หมู่ต้นสนร้องอึงอลในสายลม และถ้าต้องหลงวนอยู่ในหนทาง ท่านจะต้องถามเงาตนเองว่า... จะรุดต่อไปหนไหน”
บทกวีของฮั่นซานใช้ภาษาง่ายๆ แต่เปี่ยมไปด้วยความงดงาม หลายบทตอนที่เป็นดั่งภาษาพูดและสำนวนในเชิงอุปมาอุปไมย ที่ได้อิทธิพลมาจากพระสูตรและคติธรรมแห่งนิกายเซน ที่ถือว่า “สัจธรรมแห่งพุทธสถิตอยู่ในหัวใจของทุกคนอยู่แล้ว”
“ในที่พำนักของข้าพเจ้านั้น มีถ้ำ... และในถ้ำนั้นหามีสิ่งใดไม่ ...บริสุทธิ์และว่างเปล่า เรืองรองส่องแสงดั่งดวงอาทิตย์... เพียงกินผักหญ้าก็พอประทังชีวิต เพียงมีผ้าขี้ริ้วห่มคลุม ก็พอปกปิดกาย
ให้พระอรหันต์ ทั้งพันมาปรากฏต่อหน้า... เพราะข้าพเจ้ามีสัจจะแห่งพุทธอยู่ภายใน”
“ขุนเขายะเยือก”ถูกแปลเป็นภาษาไทยด้วยลีลาภาษาแห่งความเป็นกวีนิพนธ์ที่วิจิตรงดงามโดยนักแปลผู้เปี่ยมไปด้วยศรัทธาแห่งการหยั่งรู้ใน “วิถีธรรม”... “พจนา จันทรสันติ” ซึ่งถ่ายทอดมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ “เบอร์ตัน วัตสัน” ผ่านเจตจำนงที่ต้องการจะเน้นย้ำว่า “มนุษย์เราจะต้องเป็นตัวของตัวเองให้ได้เสียก่อน... ก่อนที่จะคิดเป็นอย่างอื่น” เพราะหากเราไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้แล้ว ก็ยากที่จะเป็นอะไรได้อีก... การเป็นตัวของตัวเองไม่ใช่ภาวะเฉพาะของความเป็นปัจเจก แต่มันคือการก้าวย่างแห่งการแสวงหาความดีงาม โดยเฉพาะการได้ค้นพบวิถีแห่งการสร้างแบบอย่างทางคุณธรรม จริยธรรมเพื่อการตระหนักรู้ จนสามารถตัดสินความถูกต้องหรือผิดบาปได้ด้วยวิจารณญาณของตนเอง ณ โอกาสต่อๆไป
“จงเริงรื่นหากยังมีสิ่งบันดาลใจให้เริงรื่น หากทำชีวิตให้เบิกบานได้ก็อย่าพลาดโอกาสนั้น แม้จะมีบางคนบอกว่าชีวิตยืนยาวนับร้อยปี แต่มีใครสักกี่คนที่มีอายุยืนยาวได้เพียงนั้น เราต่างอยู่ในโลกเพียงชั่วขณะหนึ่ง อย่ามัวแต่นั่งแสวงหาเงินทอง เพราะแม้ในท้ายที่สุดของตำราขงจื๊อ ก็ยังมีบอกไว้ถึงการพิธีศพ”
นี่คือหนังสือที่ดูเหมือนจะเหมาะสมอย่างยิ่งกับช่วงเวลา ณ ขณะนี้... ช่วงเวลาที่อากาศค่อนข้างหวั่นไหว... และผ่านสัมผัสแห่งความยะเยือกมาแล้วในช่วงเวลาหนึ่ง... เป็นช่วงเวลาที่ปีใหม่ของชาวจีน ที่ดูมีมิติความหมายต่อความรู้สึกปรับเปลี่ยนที่แท้จริงทั้งของชีวิตและฤดูกาล...โลกทั้งโลกกำลังประสบกับหายนะอันเนื่องมาแต่การรู้สำนึกอันจริงแท้แห่งความเป็นตัวตน มันจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต่างจะต้องหันมาพินิจพิจารณาตัวตนของเราให้ถ่องแท้อีกสักครั้ง ผ่านวิถีอันเป็นสามัญ... ผ่านวิถีแห่งความตื่นรู้ของความเป็นพุทธหรือแม้แต่วิถีอันเป็นนามธรรมของอุดมคติ... แท้จริงชีวิตเป็นเรื่องยากที่จะค้นหา... แต่มันก็ไม่ยากอะไรหากดวงจิตของเราจะตระหนักถึงการแสวงหา... “มีความรักในธรรมชาติ... มีความเข้าใจในวิถีที่เป็นไปเอง... รวมทั้งการอยู่เหนือความเป็นตัวตนของตน”... เหตุนี้ไม่ว่าวันนี้หรือวันไหน... ไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน ความคิดของฮั่นซานผ่านภาพสะท้อนของ “ขุนเขายะเยือก” ก็ยังเป็นคุณสมบัติที่เป็นพื้นฐานของความจริง เป็นแบบฉบับแห่งแรงบันดาลใจทางจิตวิญญาณอันพิเศษสุดเท่าที่มนุษย์มีอยู่เสมอ
“เมื่อผู้คนแลเห็นบุรุษแห่งขุนเขายะเยือก เขาล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “นี่คือเจ้าคนบ้า” ไม่มีใครอยากมองหน้ามันซ้ำสอง ห่อหุ้มร่างด้วยผ้าขี้ริ้ว... สิ่งที่เราพูดมันก็ไม่เข้าใจ
คำที่มันกล่าวเราก็ไม่รู้เรื่อง...
ถ้อยคำของพวกท่านล้วนไม่น่าใส่ใจ... ลองไปเยี่ยมเยือนขุนเขายะเยือกดูสักครั้ง” (ขอให้ชีวิตของทุกท่านมีความสุขเนื่องในตรุษจีนปีนี้นะครับ)