สำหรับ เซ็นทารา โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท ในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป ได้ปรับตัวอย่างหนัก ในเรื่องการลงทุน โดยมีการพิจารณาต้นทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องกันประคองธุรกิจฝ่าวิวิกฤติโควิด-19 ไปจนกว่าจะถึงวันที่ประเทศไทยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา โดย นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทารา โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท ผู้บริหารโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา ได้สะท้อนแผนการดำเนินงานไว้อย่างน่าสนใจ ปรับกลยุทธ์เพื่อรับครึ่งปีหลัง โดย นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทารา โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท ผู้บริหารโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมเป็นอย่ามาก ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้จากในประเทศมีสัดส่วนถึงเกือบ 40% จากปกติที่มี 20% เนื่องจากตลาดต่างประเทศซึ่งมีสัดส่วนรายได้รวมถึง 80% ได้รับความเสียหายไปถึงราว 70% สำหรับปีนี้ยังคาดว่ารายได้หลักยังคงมาจากตลาดในประเทศเช่นเดียวกับปี 2563 ที่ผ่านมา และฟื้นตัวของรายได้สำหรับปีนี้จะมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 55-60% ของปี 2562 และเพิ่มเป็นประมาณ 80% ของปี 2562 ได้ในปี 2565 และกลับมาพลิกฟื้นได้ในอัตราใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งมีรายได้รวม 8,500 ล้านบาทได้ภายในปี 2566 ด้วยสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มเซ็นทาราได้ปิดให้บริการโรงแรมบางแห่งชั่วคราวในประเทศไทย โดยส่วนที่เปิดให้บริการปัจจุบันมี 15 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรมที่เซ็นทาราเป็นเจ้าของ 4 แห่ง ได้แก่ เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ, เซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์, เซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท แอนด์ วิลลา หัวหิน และเซ็นทรา บาย เซ็นทารา โฮเทล แม่สอด ส่วนอีก 11 แห่งเป็นโรงแรมที่รับบริหาร เริ่มเปิดตามหัวเมืองท่องเที่ยว ขณะที่ในครึ่งแรกของปี 2564 นายธีระยุทธ กล่าวต่อว่า กลุ่มเซ็นทาราน่าจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง (Reopen) จำนวน 11 แห่ง เริ่มตั้งแต่ วันที่ 10 ก.พ.นี้ เซ็นทารา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา, วันที่ 1 มี.ค.นี้ เซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว รวมถึงเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท ภูเก็ต และเซ็นทารา วิลลา สมุย, วันที่ 1 เม.ย.นี้มี เซ็นทารา หาดใหญ่ รวมถึงเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท แอนด์ วิลลา กระบี่ และโคซี่ พัทยา วงศ์อมาตย์ บีช ส่วนวันที่ 1 มิ.ย.นี้ มีโคซี่ สมุย เฉวง บีช และหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายก็อาจจะกลับมาเปิดให้บริการโรงแรมในภูเก็ตอีก 3 แห่งที่เหลือ อีกทั้ง นายธีระยุทธ ยังกล่าวต่อว่า โครงการเราเที่ยวด้วยกันมีประโยชน์ต่อภาคธุรกิจโรงแรมไทยอย่างมาก จึงอยากให้รัฐบาลขยายระยะเวลาโครงการไปจนถึงสิ้นปีนี้หรือจนกว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาชัดเจน อย่างกลุ่มเซ็นทาราเองก็มีรายได้จากโครงการนี้แล้วกว่า 200 ล้านบาท ขณะที่รายได้โรงแรมของกลุ่มเซ็นทาราในปี 2564 น่าจะฟื้นตัว 55-60% เมื่อเทียบกับรายได้ปี 2562 ซึ่งปิดที่ 8,500 ล้านบาท หากสถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 4 นี้ฟื้นตัวดี ไปจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2565 ก็น่าจะทำให้รายได้ในปีหน้าของกลุ่มเซ็นทาราอยู่ที่ 80% และกลับมาเป็นปกติ 100% ในปี 2566 อย่างไรก็ตาม แผนธุรกิจ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2568 ทางกลุ่มเซ็นทารายังคงเดินหน้าขยายธุรกิจโรงแรมทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมาย 130-140 แห่งภายในปี 2568 จากปัจจุบันให้บริการแล้ว 44 แห่ง และอยู่ระหว่างพัฒนา 39 แห่ง รวมเป็น 83 แห่งซึ่งแบ่งเป็นโรงแรมในไทย 48 แห่ง และในต่างประเทศ 35 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องรวม 17,358 ห้องโดยมีโรงแรมใหม่ที่เตรียมเปิดให้บริการในปีนี้ มีจำนวน 8 แห่งทั่วเอเชีย ได้แก่ เวียดนาม ตุรกี กาตาร์ เมียนมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และไทย ประเทศละ 1 แห่ง และ สปป.ลาว อีก 2 แห่ง ด้านค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุน (CAPEX) ของกลุ่มเซ็นทาราในไทยปีนี้ วางแผนไว้ที่ 3,600 ล้านบาท แบ่งเป็น 300 ล้านบาทสำหรับค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา ส่วนอีก 3,300 ล้านบาทสำหรับรองรับการเติบโตในอนาคต เช่น การปรับปรุงห้องพัก ห้องประชุม และพื้นที่โครงการใหม่ ส่วน CAPEX เมื่อปีที่แล้ว เดิมวางแผนไว้ที่ 8,000 ล้านบาท แต่พอมีโควิด-19 จึงปรับแผนเพื่อบริหารสภาพคล่อง ใช้เงินลงทุนจริงไม่ถึง 3,000 ล้านบาท