กรมส่งเสริมสหกรณ์ จับมือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) นำระบบสหกรณ์พัฒนาความมั่นคงให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการบ้านมั่นคง เน้นส่งเสริมรายได้ให้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต สามารถผ่อนชำระหนี้ค่าบ้านและลดรายจ่ายในครัวเรือน เตรียมตั้งคณะทำงานร่วมกันและทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าพัฒนาสหกรณ์บ้านมั่นคงในพื้นที่ 68 จังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เตรียมตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพัฒนาโครงการสหกรณ์บ้านมั่นคง เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีอาชีพเสริมและเชื่อมโยงตลาดเพื่อให้มีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น ภายหลังการประชุมร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งพบว่า มีปัญหาในการดำเนินในหลายประเด็น เช่น การประสานงานระหว่างหน่วยงาน การจัดทำบัญชีสหกรณ์ การแบ่งแยกโฉนด เป็นต้น ทำให้สมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่โครงการสหกรณ์บ้านมั่นคงที่จัดตั้งในหลายพื้นที่บางพื้นที่ประสบปัญหาการดำเนินงาน ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ส่งผลต่อการชำระหนี้สหกรณ์และคุณภาพชีวิต จึงเห็นว่าควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนากลไกการทำงานส่วนกลาง และระดับพื้นที่ขึ้น เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนการในการพัฒนา/แก้ปัญหาให้ตรงประเด็น ส่งเสริมและพัฒนาให้มีการส่งเสริมอาชีพอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับสมาชิกสหกรณ์รวมถึงจะมีการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการสหกรณ์บ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2548 ทั่วประเทศมีจำนวน 414 แห่ง สมาชิก 46,313 คน ใน 68 จังหวัด พบว่า มีสหกรณ์ที่ยกเลิกแล้ว 12 แห่ง ประสบปัญหาปิดบัญชี 137 แห่ง และสหกรณ์ที่สามารถดำเนินการต่อตามปกติ 265 แห่ง โดยมีปัญหาและอุปสรรคในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ปัญหาการการทำบัญชี ปัญหาขาดความเข้าใจด้านการดำเนินงานของสหกรณ์ ทั้งทางด้านกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปัญหาเชิงนโยบาย ไม่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งกรมฯ จะดำเนินการจัดโครงการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการสหกรณ์และผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป “การจับมือกันครั้งนี้เพื่อจะร่วมกันแก้ปัญหาที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องการทำระบบบัญชีที่เหมาะสมกับ การดำเนินงานสหกรณ์เคหสถานภายใต้โครงการบ้านมั่นคง การจัดระบบแปลงรวมเพื่อความมั่นคงที่ดิน เนื่องจากเป็นโครงการที่รัฐจัดให้เพื่อประชาชนมีที่บ้านอยู่อาศัยตามความจำเป็นเร่งด่วน และในระยะอันใกล้ ก็คาดว่าจะมีอีกหลายชุมชนที่พอช. จะต้องหาที่ดินรองรับ ซึ่งการจะพัฒนาและส่งเสริมอาชีพแก่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มของบ้านมั่นคงให้เพิ่มมากขึ้นนั้น ต้องเป็นไปตามความถนัดของสมาชิกและความพร้อมใจของแต่ละสหกรณ์”นายวิศิษฐ์ กล่าว