จักรวาลอันกว้างใหญ่ ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับชาวโลก ล่าสุด NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “ม่านหมอกที่พลิ้วไหว ละเอียดอ่อน และบางเบาพาดผ่านบริเวณตอนเหนือของกลุ่มดาวหงส์ ภาพนี้ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐอเมริกา NASA และองค์การอวกาศยุโรป ESA แสดงให้เห็นส่วนเล็กๆ ของคลื่นกระแทกจากการระเบิดของซูเปอร์โนวา Cygnus ที่อยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,400 ปีแสง เป็นเศษซากของซูเปอร์โนวาที่หลงเหลือมาจากจุดศูนย์กลางการระเบิดของมัน ครอบคลุมพื้นที่ปรากฏที่ใหญ่กว่าดวงจันทร์เต็มดวงถึง 36 เท่า
ในช่วงเวลาระหว่าง 10,000 ถึง 20,000 ปีที่แล้ว การระเบิดของซูเปอร์โนวาครั้งนั้นได้ทำลายดาวฤกษ์ที่กำลังจะหมดอายุซึ่งมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 20 เท่า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนที่หลงเหลือได้ขยายออกไป 60 ปีแสงจากจุดศูนย์กลางคลื่นกระแทก เกิดลักษณะคล้ายผ้าม่านที่เป็นขอบด้านนอกของเศษซากของซูเปอร์โนวาและยังคงขยายตัวที่ประมาณ 220 ไมล์/วินาที (1.3 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง) การทำปฏิกิริยาร่วมกันของวัสดุที่ถูกขับออกมาจากดาวฤกษ์และวัสดุระหว่างดวงดาวที่มีความหนาแน่นต่ำถูกกวาดขึ้นมา ทำให้เกิดคลื่นกระแทกที่มีโครงสร้างคล้ายผ้าม่านสีทองที่โดดเด่น
เรียบเรียง: นายวทัญญู แพทย์วงษ์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง
Editor: Rob Garner
Text credit: ESA (European Space Agency)
Image credit: ESA/Hubble & NASA, W. Blair; acknowledgment: Leo Shatz
https://www.nasa.gov/.../hubble-views-edge-of-stellar-blast”