เมื่อวันที่ 5 ก.พ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในโอกาสเข้าติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษารูปแบบการปลูกกัญชาในระบบแปลงเปิด ณ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ว่า ช่วงเวลาปีกว่าๆที่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆเกี่ยวกับพืชสมุนไพร “กัญชา” เช่น ปรับปรุงกฎหมาย ยกเลิกข้อห้ามต่างๆซึ่งตามขั้นตอนของภาคราชการต้องใช้เวลามาก ณ วันนี้เราสามารถปลดล็อกให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนของต้นกัญชายกเว้นดอก ซึ่งถือว่าเราเดินมาไกลพอสมควร และขั้นตอนต่อไปคือหาวิธีการให้เกษตรกร ประชาชน ผู้ที่ประสงค์ทำเป็นการเกษตร อุตสาหกรรม ขออนุญาตปลูก ประกอบการได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว แต่ต้องขอความร่วมมือจากทุกคนว่าเราเดินมาถูกทิศทาง ได้รับรู้ว่าประโยชน์ของกัญชาคืออะไร โอกาสในการสร้างรายได้ พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ เศรษฐกิจของประเทศไทย แล้วก็รายได้ของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นใคร่ขอให้ใช้ตามกฎหมายทุกประการ เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย และเพื่อต้องการให้ประชาชนและเกษตรกรได้เข้าถึงพืชสมุนไพรกัญชา
“หลักง่ายๆ ตอนนี้คือเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน แล้วร่วมกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยปลูกพืชสมุนไพรกัญชาที่บ้านคนละ 6 ต้น แล้วนำผลผลิตขายให้ รพ.สต. จากนั้น รพ.สต.นำไปจำหน่าย รากทุกเส้น ลำต้น ใบทุกใบ ต้องรู้ที่มาที่ไปเพราะเหล่านี้คือการควบคุม โดย อย.จะจัดการเรื่องใบอนุญาตอย่างรวดเร็วให้ อีกหน่อยอาหารบนโต๊ะจะมีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ”นายอนุทิน กล่าว
ขณะที่ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้กล่าวเสริมว่า เรื่องการผลักดันสิ่งใหม่ๆกระแสต้านและคนไม่เข้าใจพืชสมุนไพร “กัญชา” มีเยอะโดยเฉพาะภาคราชการ หลายคนหลายฝ่ายรู้สึกงุ่มง่ามล่าช้า แต่นับจากขวบปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการขับเคลื่อนและพัฒนาไปก้าวใหญ่มาก จากที่สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ผลักดันแก้ไขกฎหมายให้มีบทเฉพาะกาลขึ้นทะเบียนผู้ป่วย สามารถแจ้งนิรโทษกรรม จนมาถึงการปลดล็อกใบ ต้น ราก ให้สามารถใช้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา ได้ทำการปลูกนำร่องสมุนไพร “กัญชา” 2 รอบ พร้อมกับเก็บเป็นงานวิจัย โดยการปลูกรอบแรกปลูกแบบในโรงเรือนและนอกโรงเรือน ส่วนรอบที่ 2 ปลูกแบบนอกโรงเรือนอย่างเดียวเพราะมั่นใจว่ากัญชาสายพันธุ์ไทยหรือลูกผสมสามารถจะงอกงามได้อย่างดีในพื้นที่ธรรมชาติของประเทศไทยหากปลูกถูกต้องตามฤดูกาล ซึ่งทุกคนเห็นเป็นที่ประจักษ์และเชื่อมั่นว่าจะทำให้เกิดการปรับตัวตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการอนุญาตให้ปลูกนอกโรงเรือนได้มากขึ้น ซึ่งต้นทุนจะต่ำมาก นอกจากนั้น สภาเกษตรกรแห่งชาติยังได้ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการวิจัยเรื่องต้นทุนการผลิต สายพันธุ์ทั้งจากภาคเหนือและภาคอีสาน การเจริญเติบโต ผลผลิต การใช้น้ำ การให้ปุ๋ย เปรียบเทียบความแตกต่าง เป็นต้น
“ทางเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะ อย.กับส่วนงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในระหว่างการจัดทำระเบียบหรือซักซ้อมเรื่องวิธีการปฏิบัติเพราะหลายฝ่ายสับสนมาก ถามไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก็ยังงงอยู่ว่าจะปฏิบัติอย่างไรในกรณีที่ชาวบ้านมีความตั้งใจที่จะขอปลูกพืชสมุนไพรกัญชาตอนนี้ คุยกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านได้สั่งการไปที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ว่าช่วยดูระเบียบในการขอปลูกว่าจะทำอย่างไรให้คล่องตัว ตรงนี้ต้องอดใจรอกันต่อว่าจะปฏิบัติหรือมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่รับฟังเรา และที่ผ่านมาจากการปลูกนำร่องสมุนไพร “กัญชา” ทั้ง 2 รอบ นั้น วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา จ.ลำปาง ปลูกเพื่อเป็นการนำร่องและเก็บเป็นงานวิจัย ผลผลิตวัตถุดิบทั้งหมดส่งมอบยังกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกนำไปปรุงยาไทยแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยโดยไม่คิดมูลค่าทั้งสิ้น ทำให้ไม่มีรายได้จุนเจือกิจการ จึงนำเรื่องปรึกษาเลขาธิการ อย. ขอทำเป็นการท่องเที่ยวเพื่อรายได้เสริมได้หรือไม่ ท่านบอกทำได้ จึงจัดโปรแกรมการท่องเที่ยว แต่ด้วยสถานการณ์ covid-19 จึงรองรับนักท่องเที่ยวได้เฉพาะใน จ.ลำปาง เท่านั้น หากสถานการณ์ covid-19 เบาบางลงค่อยปรับโปรแกรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวพื้นที่อื่นต่อไป”นายประพัฒน์ กล่าว