50 ปียานอะพอลโล 14 กับภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์ พร้อมกับเก็บหินกลับมาโลก ซึ่งล่าสุดทีมนักวิจัยพบมีองค์ประกอบคล้ายหินบนโลกมาก พร้อมตั้งสมมติฐานสะท้อนทฤษฎีไอน์สไตน์ สสารไม่หายไปจากโลก
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ครบรอบ 50 ปีการลงจอดบนดวงจันทร์ของยานอะพอลโล 14
เรามีเรื่องหินดวงจันทร์ที่เก็บมาจากโครงการ Apollo 14 มาฝาก ว่ากันว่า มันอาจมีอายุถึง “สี่พันล้านปี”
หินที่อาจเก่าแก่ที่สุดบนโลกที่ Apollo 14 นำกลับมาจากดวงจันทร์
จากการวิเคราะห์ตัวอย่างหิน หมายเลข 14321 ที่ภารกิจอะพอลโล 14 นำกลับมายังโลก พบว่า มันมีองค์ประกอบที่ใกล้เคียงหินบนโลกมากกว่าหินบนดวงจันทร์
อลัน เชปเพิร์ด (Alan Shepard) นักบินอวกาศในโครงการ อะพอลโล 14 ได้นำตัวอย่างหินจากดวงจันทร์นี้กลับมายังโลก ตัวอย่างหิน หมายเลข 14321 นี้ มีน้ำหนักประมาณ 9 กิโลกรัม นับเป็นตัวอย่างหินดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับ 3 ที่โครงการอะพอลโลนำกลับมายังโลก ตัวอย่างหินนี้ มีฉายาว่า “Big Bertha” (มาจากชื่อของอาวุธปืนใหญ่ที่ประเทศเยอรมนีใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1) ถูกเก็บมาจากบริเวณหลุมอุกกาบาตโคน (Cone crater)
ล่าสุด ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคอร์ติน (Curtin University) ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างหินชิ้นนี้ในปี ค.ศ.2019 พบว่า หินก้อนนี้มีองค์ประกอบคล้ายกับหินบนโลกมาก แตกต่างไปจากหินที่อยู่บนดวงจันทร์ทั่ว ๆ ไป รวมถึงผลการวิเคราะห์อายุของหิน พบว่าอาจมีอายุถึง “สี่พันล้านปี” ซึ่งใกล้เคียงกับอายุของหินที่เก่าแก่ที่สุดที่พบบนโลก
นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่า ต้นกำเนิดของหินก้อนนี้อาจคล้ายกับกรณีอุกกาบาตจากดวงจันทร์หรืออุกกาบาตจากดาวอังคารที่ตกมายังโลก กล่าวคือ ดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกด้วยความรุนแรง ทำให้สสารที่อยู่บนโลกกระเด็นขึ้นสู่อวกาศ หลุดพ้นแรงดึงดูดของโลก กระจัดกระจายไปในระบบสุริยะ และส่วนหนึ่งก็ไปตกอยู่บนดวงจันทร์ จึงเกิดเป็น “อุกกาบาตจากโลก (terrestrial meteorite)” ที่ไปตกอยู่บนดวงจันทร์ ซึ่งหากสมมติฐานนี้เป็นจริง หินก้อนนี้จะกลายเป็นอุกกาบาตจากโลกชิ้นแรกและเป็นหนึ่งในหินของโลกที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยค้นพบ
ปัจจุบัน Big Bertha อยู่ในความดูแลของ Lunar Sample Laboratory Facility (LSLF) หน่วยงานของ NASA ตั้งอยู่ที่ Johnson Space Center เมืองฮูสตัน รัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา การศึกษาหินจากดวงจันทร์และอุกกาบาตจากดาวเคราะห์อื่นยังคงดำเนินต่อไปเพื่อเติมเต็มความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในยุคแรกๆ ของโลก ดวงจันทร์และระบบสุริยะ
เรียบเรียง : นายสิทธิพร เดือนตะคุ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.
แหล่งที่มา
www.apod.nasa.go
https://ares.jsc.nasa.gov/astromaterials3d
www.nasa.gov/mission_pages/apollo/missions/apollo14.html”