รายงาน : การขายของในช่วงการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้การค้าดำเนินต่อไปได้ อย่างที่เรียก ชีวิตวิถีใหม่ปกติ หรือ New Normal แน่ล่ะ โควิด-19 ได้ก่อให้เกิดส่งผลกระทบด้านสังคมและเศรษฐกิจต่อคนไทยทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย(Cultural Product of Thailand:CPOT) ของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ซึ่งส่วนหนึ่งผลิตอยู่ในชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ทั่วประเทศ ที่ได้นำเอามรดกภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอดผลิตเป็นผลิตภัณฑ์CPOT ที่มีเอกลักษณ์ความโดดเด่นเฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน หนึ่งในผู้ประกอบการสินค้า CPOT นายสรพล หรีรักษ์ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ CPOT ไม้แกะสลักแบรนด์จำหลักไม้ 86 ชุมชนคุณธรรมฯ วัดหว่านบุญ จ.ปทุมธานี บอกว่า ขณะนี้ผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักแทบไม่มีออร์เดอร์เข้ามาเลย ทำให้ยอดขายหายไปกว่าร้อยละ 90 ก่อนหน้านี้เคยหยุดผลิตไปช่วงหนึ่ง แต่ขณะนี้กลับมาผลิตอีกครั้ง เพื่อให้พอมีสินค้าอยู่ในสต๊อคบ้าง แต่ผลิตจำนวนไม่มาก ทั้งสินค้าเดิม เช่น โต๊ะน้ำชา โต๊ะไม้ลายฉลุและต้นแบบของสินค้าใหม่ เช่น เรือไม้ลายฉลุ โคมไฟลายฉลุ เขากล่าวเสริมด้วยว่า ถ้าวธ.หันมาส่งเสริมการขายสินค้า CPOTผ่านออนไลน์มากขึ้น จะช่วยผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง เพราะช่วงนี้โควิด-19 ระบาดอยู่ คนเดินทางน้อยลงหันไปสั่งสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น แต่ก็ต้องหาวิธีกระตุ้นการขายออนไลน์ให้เข้าถึงคนซื้อให้มากที่สุด เช่น การทำให้ผู้ซื้อเห็นพรีวิวสินค้า CPOT ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ แล้วสามารถกดลิงค์เข้าสู่เว็บไซต์ขายสินค้าCPOT ของวธ.ได้ทันที “แต่การสนับสนุนให้ออกบูธขายควรทำเหมือนเดิม เพราะจะได้นำสินค้ามาโชว์และผู้ประกอบการกับผู้ซื้อได้มาเจอกัน และอยากให้วธ.อบรมให้ความรู้เรื่องการวางแผนการผลิต การลดต้นทุน วิธีปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เข้าใจถึงเทรนด์ของลูกค้าและการพัฒนาสินค้าให้ทันสมัย” สรพล แนะแนวทางพัฒนาการขายสินค้า CPOT สอดคล้องกับ นางศุภางค์ ต่างกลาง ผู้ประกอบการผ้าไหมบ้านจะโปะ แบรนด์ไหมทอง สุรนารี ชุมชนคุณธรรมบ้านจะโปะ จ.นครราชสีมา เล่าว่า ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 รอบใหม่อย่างมาก เพราะนับแต่เดือนธันวาคม 2563 ถึงปัจจุบันยอดสั่งซื้อสินค้า CPOT ผ้าไหมลดลงกว่าร้อยละ 90 เนื่องจากไม่มีงานพิธี เช่น งานแต่งงาน งานบวชและกิจกรรมเทศกาลวัฒนธรรมประเพณี แต่การผลิตผ้าไหมไม่สามารถหยุดตามไปด้วย เพราะงานทอผ้าต้องทำอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ได้สั่งซื้อวัตถุดิบผลิตผ้าไหมมัดหมี่ไว้แล้ว เพื่อให้คนจัดเตรียมวัตถุดิบและคนทอผ้ายังอยู่ได้ จึงต้องเดินหน้าผลิตต่อไป ตอนนี้เน้นผ้าไหมลายบัวอภิรมย์แต่ทำออกมาหลายสี ส่วนลายใหม่เป็นลายโบตั๋นหรือพันผึง ทำให้ขณะนี้มีแต่รายจ่ายเป็นส่วนใหญ่ “อยากให้วธ.ช่วยส่งเสริมการขายสินค้าCPOTผ่านช่องทางออนไลน์คู่ขนานไปกับการสนับสนุนออกบูธตามงานแสดงสินค้าต่างๆ พร้อมกับช่วยให้ความรู้ในเรื่องการออกแบบดีไซน์ผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยและตรงความต้องการของลูกค้า อยากนำผ้าไหมบ้านจะโปะมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เพื่อให้มีสินค้าหลากหลาย” นางศุภางค์ ผู้ประกอบการผ้าไหม แนะนำ ด้าน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวการพัฒนาการขายสินค้าCPOTและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการว่า วธ.มีนโยบายเร่งขับเคลื่อนการสนับสนุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์CPOT ให้สามารถยกระดับสินค้าให้มีคุณค่า มีมูลค่าเพิ่มให้ได้มากกว่าร้อยละ 10 รวมทั้งให้มีความทันสมัยตรงกับความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ จะส่งเสริมการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ด้วย เพื่อให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโตมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจผ้าไหมบ้านจะโปะ จ.นครราชสีมา เข้าไปดูได้ทางเฟซบุ๊กเพจ Maithong Suranaree ไหมทอง สุรนารี ส่วนผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักแบรนด์จำหลักไม้ 86 เฟซบุ๊กเพจ SPdesign และอีกหนึ่งช่องทางออนไลน์เว็บไซต์ www.cpotshop.com กระทรวงวัฒนธรรมได้รวบรวมสินค้ากว่าหนึ่งหมื่นรายการไว้ให้เลือกซื้อหา พร้อมข้อมูลติดต่อผู้ประกอบการโดยตรง CPOT ผลิตภัณฑ์ชุมชน ปรับตัวสู้โควิด-19 พัฒนาสินค้าวัฒนธรรม ขายออนไลน์ สร้างรายได้