ปี 2020 เป็นปีที่ประชากรโลกประสบกับการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศไทย การรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มาตรการต่างๆถูกนำมาใช้เพื่อบริหารจัดการและควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา และหนึ่งในมาตรการนั้นคือ “ล๊อกดาวน์ (lockdown)” ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดการปิดตัวทางเศรษฐกิจและสังคม กิจกรรมต่างๆ ต้องหยุดชะงัก เช่น การรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม การปิดห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร อีกทั้งการคมนาคมบนท้องถนนที่ลดลง รวมถึงการส่งเสริมแคมเปน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
.
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ติดตามสถานการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด19 โดยพบว่า ช่วงที่มีการล๊อกดาวน์ เกิดการเปลี่ยนแปลงบนพื้นโลกที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนจากภาพดาวเทียม นั่นคือ ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่เกิดจากการคมนาคมขนส่งและยานพาหนะ เช่น มลพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์ มีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด
.
ภาพจากดาวเทียม Ozone Monitoring Instrument (OMI) ที่ติดตั้งบนดาวเทียม Aura ของ NASA สามารถตรวจวัดค่า NO2 โดยเทียบรายเดือนระหว่างปี 2019 กับ 2020 พบว่า ภาพรวมค่าเฉลี่ย NO2 ของปี 2020 จะน้อยกว่าปี 2019 โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเฉลี่ย NO2 ของเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2020 ลดลงอย่างชัดเจน (ปรากฎสีน้ำเงิน) ซึ่งในช่วง 2 เดือนดังกล่าวเป็นช่วงที่ประเทศไทยใช้มาตรการ “ล๊อกดาวน์” อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมไปถึงเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนในแต่ละภูมิภาคของประเทศ และเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น มาตรการต่างๆ เริ่มมีการยืดหยุ่น ผ่อนคลาย และปลดล๊อกบางมาตรการ ทำให้ค่า NO2 ตั้งแต่หลังเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา เริ่มมีความใกล้เคียงกับค่า NO2 ในปี 2019
สำหรับการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายปี 2020 แม้รัฐบาลจะไม่ประกาศล๊อกดาวน์ แต่ก็มอบหมายให้แต่ละจังหวัดกำหนดมาตรการต่างๆ ตามความเหมาะสม งดจัดกิจกรรมต่างๆรวมไปถึงการเฉลิมฉลองในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ อีกทั้งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม หลายๆกิจกรรมให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ค่า NO2 ในช่วงเดือนธันวาคมในปี 2020 ลดลงจากปี 2019 อีกครั้ง ทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือของภาคประชาชนตลอดจนหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างเห็นได้ชัด
ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ NO2 หรือ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดคุณภาพอากาศ ที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลง โรงงานอุตสาหกรรม การขนส่ง การเดินทาง เป็นต้น ซึ่งก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มีศักยภาพสูงในการสร้างมลพิษจึงจัดว่าเป็นหนึ่งในก๊าซที่ทำให้เกิดมลพิษในอากาศและเป็นอันตรายต่อมนุษย์
NO2 และออกไซด์ของไนโตรเจน เป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจและความเสียหายต่อปอดหากรับเข้าไปแบบเฉียบพลัน และเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเรื้อรังหากรับเข้าไปในระยะยาว และยังนำไปสู่การก่อตัวของ PM2.5 และโอโซน ซึ่งมลพิษทางอากาศที่มีบทบาทสำคัญต่อผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน