ในภาวะที่ฝุ่น PM 2.5 กลับมาเข้าขั้นวิกฤตอีกครั้ง กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อมรายงานผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 แล้วพบว่าเกินค่ามาตรฐานถึง 70 พื้นที่ทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร บางจังหวัด เช่น เชียงใหม่ก็มีค่าฝุ่นสูงสุดถึง 87 - 153 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร บวกรวมกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงวางใจไม่ได้ สุขภาพจิตและสุขภาพกายคือ 2 สิ่งที่รับผลกระทบสะสมตลอดมาและอาจเกิดปัญหาถ้าไม่ได้ดูแลอย่างใส่ใจ ยิ่งไปกว่านั้นหากเราต้องเผชิญกับฝุ่นมากเข้าๆ เจ้าละอองเหล่านี้จะเข้าสู่ร่างกายทางปอดทะลุไปยังหลอดเลือดและเข้าไปรบกวนการทำงานของระบบประสาทและสมองได้ ในประเด็นผลกระทบของ PM 2.5 และ COVID-19 ต่อทั้งสุขภาพกายและใจนี้ นายแพทย์สันติ เอื้อนรเศรษฐ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต พหลโยธิน มีมุมมองที่น่าสนใจในประเด็นดังกล่าว 2 ข้อหลักๆ รู้แล้วจะได้หาทางรับมือและอยู่ได้อย่างมีสติ นายแพทย์สันติ เอื้อนรเศรษฐ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต พหลโยธิน * ฝุ่นและไวรัสความเหมือนที่แตกต่าง นายแพทย์สันติ กล่าวว่า ฝุ่นกับไวรัสมีส่วนที่คล้ายกันคือเป็นอนุภาคขนาดเล็กๆ ที่เรามองไม่เห็น ลอยอยู่ในอากาศ เพียงแต่ฝุ่นไม่มีชีวิต ไวรัสมีชีวิต เราก็เลยกลัวมันมากกว่า แต่วิธีป้องกันก็เหมือนกันเลยคือ อย่าสูดดมมันเข้าไปครับ อย่าให้มันเกาะกับตัวเรา ต้องใส่หน้ากาก อย่าจับใบหน้า อย่าขยี้ตาเพราะไวรัสมันติดต่อจากสารคัดหลั่งได้ แล้วต้องล้างมือเป็นประจำ ทีนี้มันจู่โจมเราที่ปอด เราต้องตั้งรับด้วยการดูแลปอดให้แข็งแรงก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ ในด้านผลกระทบต่อสุขภาพจิตจากช่วงที่ COVID-19 ระบาดใหม่ๆ หลายคนก็กังวลว่า #เราติดหรือยังนะ มาจนถึงตอนนี้ก็ยังระแวงว่าจมูกเรายังรับกลิ่นไหม ที่เลือดกำเดาไหลนี่คือเป็นเพราะฝุ่นจู่โจมเราหรือยัง ความคิดต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดความเครียดสะสม "การจะห้ามตัวเองไม่ให้นอยด์เลยมันทำได้ยากนะครับ เพราะมันค่อยเป็นค่อยไป เพราะปัญหามันสะสมมันไม่ได้ตูมตาม จริงๆ แล้วเราสามารถเสิร์ชในเว็บกรมสุขภาพจิตเพื่อทำแบบทดสอบได้เลยนะว่าเราเครียดไปไหมในช่วงที่เจอกับ COVID แต่หมอว่าเราไม่รู้ตัวหรอกส่วนมากจะคนข้างๆ ที่จะรู้ (หัวเราะ) หมอมีหลักการง่ายๆ คือ ความกังวลของเรามันเริ่มรบกวนชีวิตประจำวันหรือยัง เช่น นอนไม่หลับ นอนยังไงก็ไม่พอ ปกติขับถ่ายได้ตอนนี้ท้องผูก หรือเริ่มไปหาเรื่องคนรอบข้างเรื่องไม่ใส่หน้ากาก หมอว่าอันนี้อาจจะเครียดไป อาจจะต้องตั้งหลักหรือปรึกษาแพทย์ดูครับ" * ลดความเครียดด้วย Social Media Detox นอกจากนี้คุณยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้านเพื่อดูแลสภาพจิตใจของตัวเองเพิ่มเติมจากการดูแลร่างกายซึ่งต้องทำเป็นกิจวัตรอยู่แล้วได้ ซึ่งนายแพทย์สันติแนะนำว่า Social Media Detox ก็ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจ "หมอว่าเบื้องต้นคือ ลดการเสพข่าวสารลงหน่อย (หัวเราะ) อาจจะกำหนดช่วงเวลาจะได้ไม่กังวลมาก ถ้าจะใช้เวลาในโลกออนไลน์หมออยากให้เป็นการเอาความเครียดออกไปครับ ไม่ได้รับความเครียดเข้ามาเพิ่ม นอกจากนั้นทุกกิจกรรมง่ายๆ ที่ทำในบ้านได้แล้วเบี่ยงเบนความสนใจไม่ให้ไปโฟกัสกับความเครียดทำได้หมดเลย อย่างปลูกต้นไม้นี่ท็อปฮิต ก็เป็นเรื่องดี แล้วก็ดูแลเรื่องสุขภาพให้พร้อมเอาไว้ครับ" นายแพทย์สันติกล่าว นอกจากจะใส่ใจสุขภาพจิตของตัวเองแล้ว ก็อย่าละเลยสุขภาพจิตของคนใกล้ตัว เพราะในสถานการณ์แบบนี้เรียกได้ว่าต่างคนต่างก็เครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปิดเผย Timeline รายวันซึ่งนอกจากจะเป็นการเตือนภัยแล้วอีกนัยหนึ่งก็สร้างความกังวลในเวลาเดียวกัน ยิ่งสำหรับคนที่ติดเชื้อไปแล้ว หลายคนอาจอยู่ในภาวะถูกโจมตีทั้งจากคนรอบข้างและสังคมด้วย "อีกฝั่งที่น่าห่วงคือคนที่ผล Positive แล้วต้องเปิดเผย Timeline หมอมองว่าก็ต้องไปดูแลจิตใจเขาด้วย เพราะเขาอาจจะดาวน์ รู้สึกผิดเพราะคิดว่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน ยิ่งถ้าเป็นคนในครอบครัวแล้ว หมอว่าต้องมองไปที่เจตนาครับ ถ้าเขาไม่ตั้งใจก็ต้องเข้าใจ คนเราโกรธได้แต่อย่าไป Aggressive ครับ ต้องให้กำลังใจกัน" สุดท้ายแล้วความกังวลใจก็เป็นเรื่องเราทุกคนควรบริหารจัดการเป็นอันดับแรกเพื่อให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ราบรื่น ไม่กระทบกับรายได้และคนรอบข้าง ตามที่นายแพทย์สันติได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า เปิดรับข้อมูลได้ แต่อย่าให้ข้อมูลวนกลับมาทำร้ายเราเอง ผอ.โรงพยาบาลวิมุตพหลโยธิน กล่าวทิ้งท้ายว่า "ไม่แปลกที่คนเราจะกังวลครับ แต่อยู่ที่ว่าเราจะดึงตัวเองกลับไปได้หรือเปล่า ดังนั้นเกิดอะไรก็ตาม ขอให้ตระหนักแต่อย่าไปตะหนก แต่ไม่ต้องถึงขนาดหลอกตัวเองแค่พยายามมองในแง่ดี ทุกอย่างมีด้านดีเสมอ ต้องมองว่าเราเรียนรู้อะไรจากมันได้บ้าง”