ลุงกลับมาจากอเมริกามาเยี่ยมบ้านที่ขอนแก่น ติดโควิดเดินทางกลับไม่ได้ ตัดสินใจแบ่งที่นาปลูกองุ่น อากาศเย็นเป็นใจองุ่นออกพวงสวยงาม ก่อนนำไปเผยแพร่ผ่านโซเชียล จนทำให้นักท่องเที่ยวแห่เข้าชมแถมเขียนชื่อเบอร์โทรจองเอาไว้อีกด้วย เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 1 ก.พ.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ โคกก่องสวนเกษตร ซึ่งตั้งอยู่ เลขที่ 8 บ้านโคกก่อง หมู่ 2 ต.หินตั้ง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากทยอยเดินทางเข้ามาเพื่อชมสวนองุ่นที่กำลังออกผลอย่างสวยงาม พร้อมทั้งนำปากกามาเขียนชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ใส่กระดาษแล้วติดไว้ที่กิ่ง ที่สนใจ เพื่อเป็นการจององุ่นพวงนั้น เนื่องจากทราบว่าองุ่นในสวนยังไม่สามารถเก็บไปรับประทานได้ ต้องรอช่วงเดือน มี.ค. นายเฉลิม ผุสธรรม อายุ 70 ปี เจ้าของสวนโคกก่อง สวนเกษตร บอกว่า เดิมพื้นที่แห่งนี้ปลูกมันสำปะหลังและทำนา เนื่องจากเป็นพื้นที่ดินแห้งแล้ง แต่เมื่อประมาณต้นปี 2563 ได้เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกาเพื่อมาเยี่ยมบ้านที่ จ.ขอนแก่น แต่พอจะเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาเป็นช่วงที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 รอบแรก ทำให้ถูกเลื่อนตั๋วเครื่องบินถึง 3 ครั้ง "ระหว่างอยู่ที่เมืองไทยไม่มีอะไรทำประกอบกับผมมีที่ดินอยู่ 17 ไร่ จึงเริ่มมีความคิดจะทำการเกษตร จนกระทั่งเดือน มี.ค. 2563 ตัดสินใจปลูกองุ่น 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ไวท์มะละกา และพันธุ์บิวตี้ ซีดเลส หรือองุ่นไข่ปลา จำนวนรวม 350 ต้น ในพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อเป็นการทดลองก่อน โดยลงทุนทำแปลงและระบบท่อส่งน้ำโดยมีเพื่อนบ้านและญาติ ๆ ช่วยกันดูแล ต่อมาเดือน ก.ย. 2563 ต้นองุ่นเริ่มออกผลจำนวนมากเป็นพวงสวย ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่ผมและครอบครัวไม่คิดมาก่อนว่าพื้นที่แห้งแล้งที่ไม่สามารถปลูกอะไรได้จะปลูกองุ่นได้งอกงามขนาดนี้ ญาติ ๆ จึงช่วยโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียจนชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นชื่นชมและติดต่อขอเข้ามาชมอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งผมเปิดให้เข้าชมฟรี แต่ขอร้องไม่ให้แตะต้องเพราะองุ่นยังไม่ถึงเวลาเก็บ" นายเฉลิม กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้หลายคนมีการเขียนชื่อติดกิ่งองุ่นไว้เพื่อรอให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือน มี.ค.ที่จะถีงนี้ อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่จะเดินทางมาชมไร่องุ่นที่ โคกก่อง สวนเกษตร ตั้งอยู่บ้านโคกก่อง ต.หินตั้ง ห่างจากเทศบาลเมืองบ้านไผ่ ไปทางอำเภอบรบือ จ.มหาสารคาม ประมาณ 11กม. ซึ่งขณะนี้ครอบครัวเตรียมที่จะปลูกต้นองุ่นเพิ่มขึ้น และจะปลูกไม้ผลอื่น ๆ อีก โดยเพิ่งเสร็จสิ้นการปลูกแตงโมไปในพื้นที่ 4 ไร่ และหากผลผลิตทาการเกษตรสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นก็จะจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่บ้านอีกด้วย