กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) จับมือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ขานรับนโยบายรัฐบาล ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ พัฒนาระบบการให้บริการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ e-Foreign Certificate ง่าย ครบ จบ ณ จุดเดียว ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย สร้างแรงดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย พร้อมเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ได้จับมือกับหน่วยงานพันธมิตร 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) พัฒนาระบบการให้บริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ภายใต้โครงการพัฒนาระบบการให้บริการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการให้บริการออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Foreign Certificate) โดยความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาล ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ เน้นอำนวยความสะดวกให้สามารถเริ่มต้นประกอบธุรกิจได้อย่างง่ายดาย สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างแรงดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น อันจะก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ “ความร่วมมือดังกล่าวจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือจาก DGA มาใช้เพื่อออกหนังสือรับรอง e-Foreign Certificate ในกรณีที่นักลงทุนต่างชาติได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ซึ่งประกอบธุรกิจภายใต้กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวของ DBD ให้สามารถยื่นคำขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) และหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (DBD) ได้ ณ จุดเดียว (Single Unit) ที่ BOI” ทั้งนี้กระบวนการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าว จะส่งผ่านระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) มายัง DBD เพื่อดำเนินการพิจารณาต่อจนแล้วเสร็จ กระทั่งออกเป็นหนังสือรับรอง e-Foreign Certificate ถือได้ว่าเป็นการบูรณาการการทำงานด้านเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน ในการให้บริการด้านอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจรได้แก่ การออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Foreign Certificate) การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) และการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) เพื่อสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบสถานะ ชำระค่าธรรมเนียม ตลอดจนดาวน์โหลดหนังสือรับรอง e-Foreign Certificate ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที” สำหรับการยื่นขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว e-Foreign Certificate ทำให้ลดระยะเวลาจากเดิมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 30 วัน เป็นเหลือเพียงภายใน 5 วัน เป็นการลดต้นทุนการดำเนินการของผู้ประกอบธุรกิจชาวต่างชาติ เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ลดการใช้กระดาษ ฯลฯ เป็นต้น อันจะเป็นการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีในการดำเนินธุรกิจ และส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ง่ายต่อการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) อีกด้วย น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า BOI มีความมุ่งมั่นที่จะปรับลดขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลต่างด้าว ซึ่งการร่วมมือระหว่างกันของทั้ง 3 หน่วยงานในครั้งนี้จะทำให้การออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทย มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติสามารถยื่นขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ถือเป็นอีกแรงขับเคลื่อนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) กล่าวถึงความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงานในครั้งนี้ว่า สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้การเข้ามาลงทุนในประเทศมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการก้าวสู่มิติใหม่ของการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการในยุค New Normal โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สามารถได้รับหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทันที ไม่ต้องไปยื่นขอรับหนังสือรับรองดังกล่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอีก เป็นการลดภาระและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดย สพร.มีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำ และเชื่อมโยงระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ของทั้งสองหน่วยงานผ่านระบบศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ หรือ Government Data Exchange Center (GDX) ที่มีมาตรฐาน มีความมั่นคงปลอดภัย สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นได้ว่าการดำเนินงานของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะเป็นไปตามธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) อย่างแน่นอน อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวทิ้งท้ายว่า ระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Foreign Certificate) ขณะนี้พร้อมให้บริการแล้ว เป็นการตอบโจทย์ทั้งในแง่ของผู้ให้บริการในการเป็นหน่วยงานภาครัฐที่พร้อมก้าวสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และในแง่ของผู้รับบริการซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติได้มีทางเลือกในการรับบริการที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้านการลงทุนของนักลงทุนชาวต่างชาติ โดยในแต่ละปีมีมูลค่าการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 300,000 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อมีระบบการให้บริการรูปแบบใหม่ กรมฯ และหน่วยงานพันธมิตรคาดว่าจะมีนักลงทุนมาใช้บริการ e-Foreign Certificate จำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการดึงดูดการลงทุน และมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้การให้บริการ e-Foreign Certificate ยังสอดรับกับทิศทางการดำเนินชีวิตหรือรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุค New Normal เพื่อความปลอดภัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย