วันที่ 30 มกราคม 2564 ณ อาคารศูนย์ส่งเสริมสุขภาพและโภชนาการ ชั้น 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่าได้เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมหลักสูตรวิศวกรสังคม (Social Engineer) รุ่นที่ 1 จำนวน 120 คน ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและบุคลากรในการพัฒนาแก้ไขปัญหาชุมชนสร้างนวัตกรรมเพื่อท้องถิ่นโดยผ่านกระบวนการอบรมวิศวกรสังคม โดยฝึกอบรมในระหว่างวันที่ 30 - 31 มกราคม 2564 ณ อาคารศูนย์ส่งเสริมสุขภาพและโภชนาการ ชั้น 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ โดยมี รศ.ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ นำผู้เข้าร่วมการอบรมเป็นผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ รวมทั้งสิ้นจำนวน 120 คน ทั้งนี้เพื่อให้แกนนำวิศวกรสังคม เยาวชนผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านการบ่มเพาะ สามารถนำความรู้และทักษะการเป็นวิศวกรสังคม ไปดำเนินกิจกรรมหรือโครงการพัฒนาท้องถิ่น ที่สามารถแก้ไขปัญหาชุมชนท้องถิ่น และร่วมเป็นผู้ช่วยวิทยากรกระบวนการกลุ่ม ในการต่อยอดขยายผล สร้างเยาวชนผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นถัดไป เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ด้วยพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ของ “ราชภัฏ วิศวกรสังคม”เพื่อขับเคลื่อนชุมชนนวัตกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ต่อไป
รศ.ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวว่า วิศวกรสังคม คือ เยาวชนผู้นำเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งได้รับการบ่มเพาะให้เป็นผู้มีจิตบริการ และนำความรู้ที่มีอยู่ไปช่วยเหลือชุมชน ทั้งในการเสริม ซ่อม สร้าง เสริม หมายถึง การที่เยาวชนผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะต้องลงไปส่งเสริมหรือหนุนเสริมกลุ่มเป้าหมายในสังคม ให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมให้ดีขึ้น
ซ่อม หมายถึง การที่เยาวชนผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะต้องลงไปซ่อมแซมสังคม ที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วว่าสังคมมีความเสียหายหรือเสื่อมสภาพอย่างไร เพื่อให้กลับมามีสภาพที่ดีขึ้น
สร้าง หมายถึง การที่เยาวชนผู้นำการเปลี่ยนแปลง จะต้องลงไปสร้างสิ่งใหม่ ๆ หรือสิ่งดี ๆ ให้กับกลุ่มเป้าหมายในสังคม เมื่อวิเคราะห์แล้วว่ากลุ่มเป้าหมายยังขาดในสิ่งเหล่านั้นในสังคม
สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะการเป็นวิศวกรสังคม 4 ประการ ได้แก่ ทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงเหตุ-ผล ทักษะในการสื่อสารองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหา ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นปราศจากข้อขัดแย้ง และทักษะการสร้างนวัตกรรมทางสังคม เพื่อเป็นเยาวชนผู้นำการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนท้องถิ่น และฝึกทักษะการทำงานเชิงพื้นที่จาการปฏิบัติงานภาคสนามในพื้นที่จังหวัด ศรีสะเกษ โดยแบ่งเป็น 3 รุ่น รุ่นที่ 1 จัดอบรมระหว่างวันที่ 30 - 31 มกราคม 2564 จำนวน 120 คน ผู้เข้าร่วมการอบรมเป็นผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี รุ่นที่ 2 จัดอบรมระหว่างวันที่ 6 - 7 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 120 คน ผู้เข้าร่วมการอบรมเป็นผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา จากคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และ วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง และรุ่นที่ 3 จัดอบรมในระหว่างวันที่ 13- 14 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 120 คน ผู้เข้าร่วมการอบรมเป็นผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา จากคณะครุศาสตร์ องค์การบริหารนักศึกษา สภานักศึกษาและชมรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
ดร กัลยาณี ธรรมจารีย์/ศรีสะเกษ