รศ.น.สพ.ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะวิธีจัดการ “กุ้งไทยปลอดเชื้อ โควิด-19” จากเหตุการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 รอบใหม่ ที่ตรวจพบการติดเชื้อในแรงงานต่างด้าวที่ทำงานที่ตลาดค้ากุ้ง จ.สมุทรสาคร และตลาดกลางค้าสัตว์น้ำอื่นๆ รวมทั้งคนไทยที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการค้าขายกุ้งและสัตว์น้ำ ส่งผลให้ธุรกิจการค้าขายสัตว์น้ำ โดยเฉพาะกุ้งก้ามกราม กุ้งขาว ประสบผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากผู้บริโภคปฏิเสธ การบริโภคกุ้ง ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตกุ้ง ไม่สามารถขายผลผลิตได้ และราคาตกต่ำอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ยินดีจัดอบรมและให้คำแนะนำผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจกุ้งทั้งวงจร โดยรศ.น.สพ.ดร. วิศณุ บุญญาวิวัฒน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ผู้คร่ำหวอดในวงการผลิตสัตว์น้ำ รศ.น.สพ.ดร.วิศณุ บุญญาวิวัฒน์ กล่าวว่า หัวใจของปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่ผู้บริโภคเกิดความหวาดกลัวว่าจะมีความเสี่ยงจากการติดโรค โควิด-19 จากการบริโภคกุ้งหรือสัมผัสกับกุ้ง หากผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจกุ้งมีการเพิ่มขั้นตอนการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งขึ้น ได้แก่ เพิ่มขั้นตอนการจุ่มกุ้ง ในน้ำยาฆ่าเชื้อคือ “กรดเปอร์อะซิติก (Peracetic Acid)” ใช้เวลาจุ่มนาน 1 นาที ที่ความเข้มข้น 100 ส่วนในล้านส่วน (พี พี เอ็ม) ก็จะสามารถช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 จากผู้ติดเชื้อ ทั้งที่มีอาการ ไม่มีอาการและที่เกี่ยวข้องในการขนส่งกุ้งและซื้อขายกุ้งทั้งวงจรได้เป็นอย่างดี โดยที่ความเข้มข้นระดับนี้ จะกำจัดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่จะไม่ส่งผลกับตัวกุ้ง กุ้งที่ผ่านการจุ่มน้ำยาดังข้างต้น จะยังมีชีวิตอยู่ตามปกติ อีกทั้งไม่ส่งผลต่อคุณภาพ รสชาติและกลิ่นของเนื้อกุ้ง ด้วยเวลาการจุ่มที่สั้น น้ำยาตัวนี้จะสัมผัสเปลือกด้านนอกของกุ้งเท่านั้น และไม่กระทบคุณภาพของเนื้อกุ้งแต่อย่างใด หากคำนวนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้น้ำยานี้จะประมาณ 100 บาท ต่อตันของน้ำหนักกุ้งเท่านั้น รศ.น.สพ.ดร.วิศณุ บุญญาวิวัฒน์ กล่าวต่อว่า กรดเปอร์อะซิติก (Peracetic Acid) สามารถฆ่าไวรัส และแบคทีเรียได้เหมือนไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ แต่ออกฤทธิ์ได้แรงกว่า ทำให้สามารถใช้ความเข้มข้นที่น้อยกว่าไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในการฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ กรดเปอร์อะซิติกสามารถใช้ได้โดยตรงกับอาหาร เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง และไม่ทิ้งสารตกค้างในเนื้อกุ้ง เพราะหลังจากการออกฤทธิ์ กรดเปอร์อะซิติก จะสลายตัวอย่างสมบูรณ์กลายเป็น น้ำ ออกซิเจน และ กรดน้ำส้มสายชู ภายในเวลาน้อยกว่า 5 นาทีภายในเนื้อเยื่อสัตว์ ทั้งนี้มีการใช้กรดตัวนี้ในธุรกิจผลผลิตทางเกษตรและอาหารเพื่อควบคุมเชื้อโรคมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐ (USFDA) ตั้งแต่ปี 2540 โดยสามารถใช้เป็นสารฆ่าเชื้อบนผักผลไม้ เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก อาหารทะเล เป็นต้น การนำอาหารสดจุ่มในกรดเปอร์อะซิติกนี้ ยังสามารถฆ่าและควบคุมเชื้อก่อโรคอื่นๆ ที่มากับอาหารได้ สามารถยืดเวลาการเก็บรักษา และทำให้การเน่าเสียของเนื้อเกิดขึ้นได้ช้าลงอีกด้วย อย่างไรก็ตามผู้ใช้ควรระวังในการใช้งานกรดเปอร์อะซิติก เนื่องจากในความเข้มข้นที่สูง สารนี้อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองแก่ผิวหนัง และมีกลิ่นของกรดน้ำส้มที่แรง ดังนั้นผู้ใช้งานกรดนี้ต้องสวมถุงมือและปฏิบัติงานในที่อากาศถ่ายเทสะดวกในระหว่างการผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ แต่เมื่อได้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ความเข้มข้นที่แนะนำแล้วสารนี้จะมีความปลอดภัยเนื่องจากระดับที่แนะนำให้ใช้ต่ำกว่าระดับที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังถึง 15 เท่า แต่ยังคงมีกลิ่นกรดน้ำส้มที่เบาบางเท่านั้น รศ.น.สพ.ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวปิดท้ายว่า อย่างที่ทราบกันว่า ตัวกุ้งเองนั้น ไม่ได้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เช่นที่คนเราติดเชื้อครับ กุ้งอาจเป็นเพียงพาหะของเชื้อนี้ ที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ตามเปลือกและน้ำที่ขนส่งกุ้ง ซึ่งเมื่อนำไปทำให้สุก การบริโภคกุ้งจะปลอดภัย 100% อาจจะเปรียบเทียบได้ว่า กุ้งเปรียบเสมือนลูกบิดประตูที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ การจับลูกบิดประตูที่มีเชื้อปนเปื้อน คือแหล่งกระจายเชื้อต่อๆ กันไปได้ในวงกว้าง กระบวนการจุ่มกุ้งด้วยกรดเปอร์อะซิติก ในขั้นตอนปฏิบัติต่างๆ แม้ว่าจะเป็นการเพิ่มขั้นตอนขึ้น มีต้นทุนที่สูงขึ้นบ้าง แต่ถือว่าคุ้มค่ามากในการป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นครับ ผู้สนใจติดตามรับชมรายละเอียดของ “กุ้งไทย ปลอดเชื้อ โควิด-19” ได้ในรายการเกษตรช่อง 5 พัฒนาชุมชน วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 11.00 น. ทาง ททบ. 5 รายการเกษตรช่อง 5 พัฒนาชุมชนเป็นรายการวาไรตี้เกษตร ดูสบาย เข้าใจง่าย อัดแน่นไปด้วยสาระความรู้ด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ติดตามรับชมรายการได้อย่างเต็มอิ่ม ทาง ททบ. 5 TV5HD1 ททบ.5 คงคุณค่า คู่ยุคดิจิทัล และรับชมย้อนหลังทั้งภาพและเสียงทาง KURPlusTV สถานีวิทยุ มก. เวลา 10.30-10.55 น. แนะนำติชมรายการได้ที่อาจารย์เกวลิน ศรีจันทร์ อีเมล [email protected]