สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงปู่เอี่ยม รุ่นแรก ยันต์สี่ ปี 2467 ถือเป็นครั้งแรกที่ หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร หรือ ท่านเจ้าคุณเฒ่า อดีตเจ้าอาวาสวัดหนัง ท่านยอมอนุญาตให้มีการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกขึ้น เพื่อแจกแก่ผู้ที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคปัจจัยในการปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญซึ่งชำรุดทรุดโทรมมาก จึงนับเป็นเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในห้าเหรียญยอดนิยม ที่มีค่านิยมสูง หาดูหาเช่ายากเอาการ โดยเฉพาะเหรียญที่มีสภาพสมบูรณ์จริงๆ ผู้มีไว้ต่างหวงแหน พระภาวนาโกศล  หลวงปู่เอี่ยม ผู้สร้าง หลวงปู่เอี่ยม เป็นชาวบางขุนเทียนโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2375 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เมื่อท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้ฉายา “สุวณฺณสโร” ท่านใฝ่ศึกษาร่ำเรียนจนมีความแตกฉานทั้งทางด้านวิปัสสนาธุระและพุทธาคม ท่านเป็นพระที่เคร่งในวัตรปฏิบัติและเป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสของชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนทั่วไป ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหนังราชวรวิหาร และได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองและเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้ไกล ชื่อเสียงของท่านเลื่องลือขจรไกลมีศิษยานุศิษย์มากมาย ที่สำคัญ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงให้ความเคารพอย่างสูง หลวงปู่เอี่ยมมรณภาพในปี พ.ศ. 2469 สิริอายุ 94 ปี พรรษา 72 เนื้อหามวลสาร หลวงปู่เอี่ยมหลังยันต์สี่ หน้า หลวงปู่เอี่ยมหลังยันต์สี่ หลัง มีการจัดสร้าง ทั้ง เนื้อทองคำ เงิน และ ทองแดง อีกทั้งสร้างแบบพิเศษขึ้นอีกหลายรูปแบบ อาทิ ทำพื้นเงิน องค์พระฉลุด้วยทองคำดุนนูน, พื้นเงิน องค์พระฉลุเป็นนาค และ เหรียญทองคำลงยา เป็นต้น พุทธลักษณะ ลักษณะเป็นเหรียญรูปใบเสมา หูในตัว ขอบเหรียญทั้งด้านหน้าและด้านหลังแกะลวดลายกระหนกอย่างงดงาม ด้านข้างของขอบเหรียญเป็นแบบเลื่อย พิมพ์ด้านหน้า มีเพียงพิมพ์เดียว ภายในกรอบกนก เป็นรูปจำลองหลวงปู่เอี่ยมนั่งเต็มองค์ บนอาสนะขาสิงห์ ใต้โต๊ะและข้างแขนทั้งสองข้างมีลายกระหนกเล่นลายอุณาโลม เหนือศีรษะหลวงปู่มีอักขระ “พุทโธ” ด้านล่างใต้อาสนะขาสิงห์มีอักขระขอมเป็นชื่อท่าน คือ “ภาวนาโกศลเถระ” รอบเหรียญมีหนังสือไทยอ่านได้ว่า “วัน ๖ เดือน ๑๑ ปีมะโรง จัตวาศก” ส่วนพิมพ์ด้านหลัง แบ่งเป็น 2 พิมพ์ ในวงการจะเรียกตามจุดไข่ปลา ที่ข้างตัว พ.พาน และ เลข 7 ถ้ามี 4 จุด เรียก “ยันต์สี่ สี่จุด” แต่ถ้ามี 3 จุด เรียก “ยันต์สี่ สามจุด” นอกนั้นจะเหมือนกันหมดทั้งการเขียนอักขระและการวางตำแหน่งยันต์ ดังนี้ คำว่า “ยันต์สี่” มาจากการล้อมรอบอักขระขอมเป็นรูปลักษณะสี่เหลี่ยม โดยที่ปลายแต่ละด้านบรรจุอักขระขอมไว้ปลายละหนึ่งตัว คือตัว “นะ โม พุท ธา” เฉพาะตัว “ยะ” จะถูกล้อมด้วยกรอบยันต์สี่อีกชั้นหนึ่ง ข้างตัว ยะ มี “นะ ปถมัง” อันเป็นหัวใจของยันต์ กลางเหรียญเป็นตัว “อุณาโลม” ใต้ลงมามีตัว “มะ อะ อุ” ซึ่งเป็นหัวใจพระรัตนตรัย ในตำแหน่งเดียวกันแต่อยู่ข้างล่างเป็นตัว “นะ มะ พะ ทะ” อันเป็นหัวใจธาตุทั้งสี่ ขอบเหรียญมีการระบุปีสร้างคือ ปี “พ.ศ.๒๔๖๗” หลวงปู่อี่ยมหลังยันต์สี่ลงยา หน้า หลวงปู่อี่ยมหลังยันต์สี่ลงยา หลัง พุทธคุณ ครอบจักรวาล ทั้ง คงกระพันชาตรี แคล้วคลาด ปลอดภัย เมตตามหานิยม โชคลาภ และโภคทรัพย์ครับผม หลวงปู่เอี่ยมหลังยันต์สี่ หน้า