ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
การมองชีวิตเพียงด้านเดียวอาจทำให้มุมมองบิดเบี้ยว
“สมเกียรติ” ที่ใคร ๆ เรียกด้วยคำนำหน้าว่า เสี่ย เฮีย ป๋า หรือไอ้ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะรู้จักกับสมเกียรติในฐานะไหน ซึ่งผมเรียกเขาว่า “เสี่ย” เพราะเป็นคำที่รักษาระยะห่างได้พอประมาณ ไม่ใกล้ชิดหรือห่างไกลจนเกินไป ที่สำคัญคือเป็นการให้เกียรติตามสมควร อย่างน้อยเขาก็เป็นคนที่สร้างเนื้อสร้างตัวมาอย่างอุตสาหะ จนกระทั่งขึ้นมามีหน้ามีตาทางสังคม และมีหลาย ๆ อย่างที่ทำให้ผมประทับใจจนลืมไม่ลง ทั้ง ๆ ที่ในตอนที่คบกันแรก ๆ ผมมองเขาผิดไปอย่างมาก
ผมรู้จักกับเสี่ยสมเกียรติในสัปดาห์แรกที่ผมมาช่วยราชการที่กระทรวงพาณิชย์ในตอนต้นเดือนสิงหาคม ปี 2531 จากการแนะนำของพี่โย่งกับพี่ศักดิ์ ข้าราชการระดับซี 6 ที่ท่านปลัดกระทรวง “กรุณา” ส่งมาช่วยประสานงานให้กับทีมงานของท่านรัฐมนตรี (ที่ใช้คำว่า “กรุณา” ก็เพราะท่านรัฐมนตรีไม่ได้ขอตัวข้าราชการคนใดในกระทรวงพาณิชย์มาช่วยงาน แต่ท่านปลัดกระทรวงท่านกรุณาจัดหามาให้โดยไม่ต้องเอ่ยปาก ต่อมาจึงทราบเบื้องหลังว่าทั้งพี่โย่งและพี่ศักดิ์เป็นเด็กของอดีตรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ซึ่งอดีตรัฐมนตรีท่านนั้นมีความห่วงใยรัฐมนตรีท่านใหม่นี้เป็นพิเศษ จึงช่วยหาข้าราชการที่ “วางใจได้” มาช่วยงานหน้าห้อง)
ทั้งพี่โย่งและพี่ศักดิ์มีอายุมากกว่าผมราว 6-7 ปี ทั้งสองคนมาจากกรมการค้าภายใน โดยพี่โย่งเป็นคนอยุธยาเช่นเดียวกันกับรัฐมนตรีท่านก่อน ส่วนพี่ศักดิ์เป็นคนกรุงเทพฯ ทั้งสองคนสนิทสนมกับท่านรัฐมนตรีคนก่อนเพราะถูกมอบหมายให้ทำงานเฉพาะกิจในเรื่อง “สต๊อกลม” คือตรวจสอบปริมาณมันสำปะหลังอัดเม็ดที่รอส่งออกตามโควตาที่พ่อค้าแต่ละรายได้รับตามโกดังและท่าเรือต่าง ๆ ซึ่งมีการทุจริตกันอย่างโจ๋งครึ่มว่าแจ้งปริมาณมากเกินความจริง อย่างที่เรียกว่า “สต๊อกลม” ดังกล่าว ต่อมาก็ได้มาทำงานเป็นหน้าห้องของรัฐมนตรีท่านนั้น จึงมีประสบการณ์ในการประสานงานระหว่างรัฐมนตรีกับข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงมาเป็นอย่างดี รวมถึงรู้จัก “ผู้คน” จำนวนมากที่มาติดต่อกับรัฐมนตรีที่กระทรวง ซึ่งเสี่ยสมเกียรติก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น
พี่โย่งกับพี่ศักดิ์แนะนำเสี่ยสมเกียรติกับผมว่าเป็นผู้สนับสนุนพรรคกิจสังคมคนสำคัญ มีความสนิทสนมกับรัฐมนตรีและผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคหลายคน ขออนุญาตที่จะเข้า “คารวะ” ท่านรัฐมนตรีในโอกาสที่ท่านรัฐมนตรีมารับตำแหน่งใหม่ หลังจากที่ผมทราบข้อมูลและวัตถุประสงค์พอสมควรแล้ว ผมก็บอกว่าคงจะต้องแจ้งท่านรัฐมนตรีให้ทราบและทำการนัดหมายก่อน ซึ่งผมก็ให้พี่โย่งโทรกลับไปบอกเสี่ยสมเกียรติในวันต่อมาว่าท่านรัฐมนตรีตกลงให้พบในวันรุ่งขึ้น ในวันรุ่งขึ้นเสี่ยสมเกียรติก็พาพรรคพวกพ่อค้าราว 10 คนมาพบท่านรัฐมนตรีตามนัด พร้อมกระเช้าของขวัญหลายกระเช้า จากหลาย ๆ กลุ่มสมาคมที่มาพร้อมกันในวันนั้น
หลังจากที่เสี่ยสมเกียรติและคณะกลับไปแล้ว ท่านรัฐมนตรีได้เรียกผมเข้าไป “กระซิบบอก” ที่ในห้องว่า ให้ระวังเสี่ยสมเกียรตินี้ให้มากสักหน่อย เพราะทราบว่ามีความสนิทสนมกับรัฐมนตรีท่านก่อนเป็นพิเศษ อาจจะมีนอกมีใน หรือนำปัญหาอะไรมาให้พวกเราที่กระทรวงนี้ได้ รวมถึงอาจจะเป็นสปายสายลับที่เข้ามาทำดีตีสนิท เพื่อที่จะล้วงเอาข้อมูลหรือผลประโยชน์บางอย่าง ซึ่งเราต้องระมัดระวังไว้เป็นอย่างยิ่ง
พอท่านรัฐมนตรีพูดถึงเรื่อง “สปายสายลับ” ก็ทำให้ผมที่เพิ่งจะออกมาจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติไม่ถึงปี (เพราะได้สอบโอนย้ายไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเมื่อปีก่อน ก่อนที่จะถูกขอยืมตัวมาช่วยราชการที่กระทรวงพาณิชย์) นึกถึงวิชาการและประสบการณ์ที่เคยทำงานเป็นนักการข่าวมาในช่วงนั้น แล้วก็คิดขึ้นมาเองว่านี่น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะใช้เสี่ยสมเกียรตินี่แหละ “เจาะทะลวงล้วงลึก” เข้าไปถึงเครือข่ายโยงใยของพวกคนที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในกระทรวงพาณิชย์ ที่สำคัญคือเครือข่ายของข้าราชการที่ร่วมอยู่ในกระบวนการนี้ ตามที่มีข่าวจากสื่อมวลชนว่ามี “เหลือบ” จำนวนมากที่จ้องทำมาหากินกับโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล รวมทั้งมี “มาเฟีย” ที่คอยกำกับควบคุมกระบวนการทุจริตนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเสี่ยสมเกียรติก็อยู่ในข่ายของความน่าสงสัยดังกล่าว
ผมให้พี่โย่งนัดหมายเสี่ยสมเกียรติเพื่อไปรับประทานอาหารด้วยกันในอีกไม่กี่วันต่อมา โดยฝ่ายผมมีพี่โย่งกับพี่ศักดิ์ไปร่วมด้วย ส่วนฝ่ายเสี่ยสมเกียรติก็มีเพื่อนอีกสองคน โดยนัดหมายกันที่ห้องอาหารจีนในโรงแรมห้าดาวแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว เสี่ยสมเกียรติขอบคุณผมที่พาเข้าพบรัฐมนตรีเมื่อวันก่อน ซึ่งผมก็ตอบไปว่าเป็นหน้าที่ของผมอยู่แล้วที่ต้องพาทุกคนที่ปรารถนาดีต่อท่านรัฐมนตรีให้ได้เข้าพบ จากการพูดคุยในค่ำนั้นเกือบสามชั่วโมง ทำให้ผมได้ทราบว่าก๋งหรือปู่ของเสี่ยสมเกียรติอพยพมาจากเมืองจีนก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในแบบ “เสื่อผืนหมอนใบ” กับแรงงานจีนจำนวนมาก มาลอยเรืออยู่ที่ปากน้ำแถวพระประแดงหลายวัน โชคดีที่มีกลุ่มพ่อค้าคนจีนจัดตั้งสมาคมขึ้นมาช่วยเหลือคนจีนที่อพยพเข้ามา โดยจัดตั้งโรงทานหุงหาอาหารให้กินประทังชีวิต จนกระทั่งมีคนรับมาทำงานที่ตลาดน้อย สัมพันธวงศ์ โดยก๋งมาลากรถขนสินค้าขึ้นลงเรือที่ท่าน้ำราชวงศ์ สินค้าส่วนใหญ่เป็นพืชผลการเกษตร จำพวกพริกแห้ง หอม กระเทียม ถั่ว งา ที่มาจากต่างจังหวัดรายรอบกรุงเทพฯ ก๋งพักอยู่ในห้องเช่ากับเพื่อนที่เพิ่งมารู้จักกันที่ตลาดน้อยนี้เอง ก๋งทำงานอยู่เกือบ 10 ปีจึงได้ภรรยาเป็นชาวสวนที่ฝั่งธน จนมีลูกคนหนึ่งคือพ่อของเสี่ยสมเกียรติ แต่ดูเหมือนว่าก๋งจะเข้ากับครอบครัวของคุณย่าไม่ได้ (ตอนนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คนไทยจำนวนหนึ่งนอกจากจะเกลียดคนญี่ปุ่นที่มารุกรานประเทศไทยแล้ว ยังเกลียดคนจีนที่ค้าขายขูดรีดเอากำไรมาก ๆ อีกด้วย) จึงหอบลูกชายมาอยู่ที่ตลาดน้อยตามเดิม ส่วนย่าก็แต่งงานใหม่และไม่ได้ติดต่อกับก๋งอีกเลย
ก๋งเสียชีวิตขณะที่พ่อยังเล็ก พ่อไปอาศัยหลวงปู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ ได้เรียนหนังสือในวัด ได้ใช้นามสกุลญาติของหลวงปู่ ได้ทำหลักฐานเป็นคนไทย และเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์มาตั้งแต่บัดนั้น พ่อเรียนหนังสือจบแค่ ป.7 หลวงปู่ก็มรณภาพ พ่อต้องออกจากวัดไปอาศัยอยู่กับเพื่อนที่เรียนหนังสือมาด้วยกัน เพื่อนคนนี้อยู่แถวรองเมือง ที่บ้านเป็นตึกแถวขายจำพวกเหล็กท่อนเหล็กฉาก พ่อช่วยยกของขึ้นรถแลกกับอาหารและเสื้อผ้า รวมทั้งช่วยงานบ้านและอื่น ๆ อีกจิปาถะ ตามแต่ “เถ้าแก่” คือพ่อของเพื่อนพ่อ ซึ่งเถ้าแก่นี่แหละที่เป็น “ไอดอล” หรือ “ต้นฉบับ” ที่พ่อของสมเกียรติเลียนแบบลีลาชีวิตมาไว้เกือบทุกกระเบียดนิ้ว
เป็นลีลาของ “เสือ” ที่ต้องเติบใหญ่ ด้วยคติว่า “แม้อดโซก็ต้องหาเหยื่อกินเอง”