ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง : วัฒนธรรมสรรค์สร้าง เศรษฐกิจฐานรากสร้างสรรค์ CPOT นำผลิตภัณฑ์ชุมชนกว่า 1 หมื่นรายการให้ได้ช็อปปิ้งทางออนไลน์
ยุคสมัยของการซื้อขายสินค้าวัฒนธรรมชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าไหม จักสาน งานปั้นดินเผา เครื่องถม งานช่างฝีมืออีกหลายประเภท ที่แต่เดิมวางจำหน่ายในร้านค้าของตนแล้ว ยังนำมาออกงานแฟร์หรือเทศกาลต่างๆ ให้ผู้สนใจได้เลือกซื้อหากัน ขณะเดียวกันอีกหนึ่งช่องทางของการซื้อขายในปัจจุบันก็คือออนไลน์ เพียงขึ้นอยู่กับว่าสินค้านั้นผ่านตัวกลางจำหน่าย หรือเจ้าของสินค้าโดยตรง ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) สบช่องนำนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มาส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมของชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นสื่อกลางเผยแพร่สินค้าชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์ในชื่อ CPOT ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ได้รับนโยบายมาจากนายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ในการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมของชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศมาดำเนินการ โดยมีแนวทางพัฒนาผู้ประกอบการและองค์ความรู้ภูมิปัญญาในการนำมายกระดับสินค้าทางวัฒนธรรม ซึ่งทั้งสองส่วนต้องทำควบคู่กันไป และนำไปเข้าสู่ระบบคลังข้อมูลวัฒนธรรม หรือบิ๊กดาต้า เพื่อให้ผู้บริโภค ผู้สนใจ สามารถสืบค้นเลือกซื้อสินค้า และหาความรู้จากผลิตภัณฑ์ต่างๆ เชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ของชุมชน นอกจากนี้ การดำเนินงานพัฒนาสินค้าต้องทำต่อยอดให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นไปด้วย
ในส่วนของช่องทางการตลาด ปลัดก.วัฒนธรรม กล่าวว่า ขณะนี้ได้เปิดช่องจำหน่ายสินค้าออนไลน์ผ่าน http://www.cpot.in.th/ มีสินค้าทางวัฒนธรรมให้เลือกซื้อกว่า 10,000 รายการ โดยจำแนกประเภทสินค้า ภูมิภาค จังหวัด ราคา สามารถสืบค้นได้ตามความสนใจ พร้อมเบอร์โทรติดต่อร้านค้าโดยตรง อีกทั้งจะมีกิจกรรมส่งเสริมการขายรายเดือน และเมื่อภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น แล้ว วธ.มีแผนงานจะจัดกิจกรรม เปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้าในแต่ละจังหวัด มีการหมุนเวียนสินค้ามาจัดจำหน่าย ซึ่งวธ.เป็นตัวกลางประสานงาน และให้ผู้ประกอบการสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ในการพัฒนาสินค้า ทั้งกระบวนการผลิต วัสดุที่ใช้ในแต่ละท้องถิ่น อัตลักษณ์ของท้องถิ่น ที่สามารถนำมาดัดแปลงประยุกต์เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆ และเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อสามารถติดต่อประสานงานกับผู้ประกอบการได้ตรงเป้าหมายอีกด้วย
“จากการสำรวจผู้ประกอบการสินค้าทางวัฒนธรรมในรอบปี 2563 พบว่าส่วนใหญ่ได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส โดยปรับกระบวนการขายสินค้าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้มียอดจำหน่ายสูงขึ้น เนื่องจากลดต้นทุนค่าออกร้าน หรือเดินทางไปขายนอกสถานที่ ส่วนผู้ประกอบการงานบริการในชุมชนบวรออนทัวร์นั้น เนื่องจากขณะนี้คนไทยเที่ยวในประเทศ จึงให้แนวทางปรับรูปแบบกิจกรรมการรองรับผู้เข้ามาเที่ยวในชุมชน และให้คำนึงถึงมาตรการป้องกันโรคโควิด-19” นางยุพา ปลัดก.วัฒนธรรม กล่าว
วัฒนธรรมสรรค์สร้าง เศรษฐกิจฐานรากสร้างสรรค์ CPOT ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชน