ผ้าไหมแพรวา
สืบสานพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9
“ผ้านี้มาจากไหน”สมเด็จพระเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ตรัสกับชาวบ้าน
“ทำกันเอง”ชาวบ้านกราบทูล
“อยากได้...สวย...มีไหม...จะทำให้...ได้ไหม” สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ตรัสอีก
“ได้ค่ะ”ชาวบ้านกราบทูลตอบด้วยความปลื้มปีติ
ข้างต้นคือพระราชจริยวัตรสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 ที่ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรชาวผู้ไทย อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2520
แพรวา หรือ ผ้าไหมแพรวา
เป็นผ้าทอมืออันเป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทยหรือภูไท การทอผ้าแพรวามีมาพร้อมกับวัฒนธรรมของชาวภูไท ที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ และการแต่งกาย
จุดกำเนิดของผ้าไหมแพรวา
ชาวภูไทเป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากประเทศจีนตอนใต้ ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่แถบเทือกเขาภูพาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเป็นส่วนใหญ่ ผู้หญิงชาวภูไทยจะถูกฝึกทอผ้าแพรวาตั้งแต่อายุ 9-15 ปี การทอผ้าไหมแพรวาต้องใช้ภูมิปัญญาในการทอด้วยการเก็บลายหรือเก็บขิดแบบจกเพื่อให้ได้ลวดลายที่โดดเด่น ซึ่งวิธีการทอจะถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเลือกใช้เส้นไหมน้อย หรือไหมยอดที่มีความเลื่อมมัน ด้วยเหตุนี้ผ้าไหมแพรวาจึงถือว่าเป็นของล้ำค่า และมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวผู้ไทย โดยแต่ละครัวเรือนจะมี ผ้าแซ่ว เป็นผ้ามรดกที่ทอลวดลายต่างๆของผ้าแพรวาเป็นลายแบบดั้งเดิมแต่โบราณที่ทอไว้บนผืนผ้า เพื่อใช้เป็นต้นแบบที่เป็นมรดกที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษของครอบครัว ซึ่งบนผ้าแซ่วผืนหนึ่งๆอาจมีลวดลายมากถึงประมาณกว่าร้อยลาย โดยจะจัดวางลายใดตรงส่วนไหนหรือให้สีใดขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ทอ จนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของผ้าแพรวาจากการวางองค์ประกอบของลวดลายต้นแบบและการให้สีสันของผู้ทอ
อัตลักษณ์ของผ้าไหมแพรวา
นอกจากการจัดวางลายใดตรงส่วนไหนหรือให้สีใดขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ทอจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของผ้าแพรวาแล้ว ผ้าแพรวายังมีลักษณะเฉพาะที่ทออยู่ในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆได้แก่ ผ้าแพรวาลายล่วง ผ้าแพรวาลายจก และผ้าแพรวาลายเกาะ
ผ้าแพรวาลายล่วง หมายถึงผ้าแพรวาที่มีลวดลายเรียบง่าย มีสองสี สีหนึ่งเป็นสีพื้นส่วนอีกสีเป็นลวดลาย
ผ้าแพรวาลายจก หมายถึง ผ้าแพรวาลายล่วงที่มีการเพิ่มความพิเศษโดยการจกเพิ่มดอกเข้าไปในลายล่วงบนผืนผ้า เพื่อแต้มสีสันให้สวยงามยิ่งขึ้น แต่สีจะไม่หลากหลายสดใดเหมือนแพรวาลายเกาะ
ผ้าแพรวาลายเกาะ หมายถึง ผ้าแพรวาที่มีลวดลายและสีสันหลายสีเกาะเกี่ยวพันกันไป ลวดลายที่ใช้ทอแพรวาลายเกาะส่วนใหญ่เป็นลายดอกใหญ่ซึ่งเป็นลายหลักของการทอผ้าแพรวา อาจจะทอไม่ใช้ซ้ำลายกันเลยในแต่ละแนวก็ได้
การผลิตผ้าไหมไทย จึงเป็นภูมิปัญญาไทยที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยที่ต้องหวงแหนและอนุรักษ์ไว้ให้กับเยวชนรุ่นต่อไป
ปฐมบทแห่งการสืบสานวัฒนธรรมผ้าไหมแพรวา
เมื่อวันที่ 39 พฤศจิกายน 2520 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพสกนิกรชาวอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ และทอดพระเนตรเห็นชาวภูไทยบ้านโพนแต่งกายแบบผู้ไทยเต็มยศ คือนุ่งผ้าถุงไหมมัดหมี่มีตีนซิ่น สวมเสื้อแขนกระบอกสีดำและคราม คอตั้ง ผ่าหน้าตลอด ติดแถบสีแดง ห่มสไบผ้าแพรวาสีแดงตามแบบสไบเฉียง หรือเรียกว่า ผ้าเบี่ยง ส่วนผู้ชายชาวภูไทก็นำผ้าแพรวาสีแดงมาคาดเป็นผ้าขาวม้า มารอรับเสด็จ ทรงสนพระราชหฤทัยมาก ได้มีพระราชดำริและทรงไต่ถามจากชาวบ้านได้ความว่า เป็นผ้าที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ และลูกหลานได้นำมาใช้สืบต่อกันมาแต่ไม่มีวางขาย หรือมีไม่กี่ครัวเรือนที่มีผ้าแพรวาใช้ เมื่อยามมีงานสำคัญที่ต้องนุ่งจะอาศัยหยิบยืมกันใช้เรื่อยมา
ทั้งนี้สมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9ทรงเล็งเห็นว่าผ้าแพรวานั้นเป็นเสมือนเพชรในตม เป็นภูมิปัญญาไทยที่มีคุณค่า จึงทรงมีพระเมตตาธิคุณให้นำมาสืบทอดแก่ลูกหลาน และพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชน โดยให้ราชเลขานุการในพระองค์นำเส้นไหมมามอบให้แก่ชาวบ้านเพื่อทอถวายได้พระราชทานเส้นไหมมาให้แก่ชาวบ้านโพนเพื่อทอผ้าไหมแพรวาและทรงรับการทอผ้าแพรวาไว้ในโครงการศิลปาชีพนับตั้งแต่นั้นมา
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 ที่ทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาการทอผ้าแพรวา ทำให้ผ้าทอมืออันเป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทยหรือภูไท ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน นอกจากสนองพระราชปณิธานการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยมรดกด้านการทอผ้าไหมแพรวา การรักษาสืบสานลายผ้าโบราณอันเป็นการบันทึกวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นไทยแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านมีอาชีพสร้างรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามวิถีแห่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้เผยแพร่เอกไทยอันงดงามผ่านผ้าไหมทอมือไปสู่นานาอารยะประเทศด้วยฝีมือของชาวบ้านด้วยเพราะสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9ทรงส่งเสริมสนับสนุนด้วยพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลอันเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้นั่นเอง ครั้งหนึ่งพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงได้นำเรื่องราวของผ้าแพรวามาจัดเสวนาให้เป็นที่ทราบถึงที่มาในหัวข้อว่า “ผ้าแพรวา : จากผ้าเบี่ยงธรรมดา สู่ราชินีแห่งไหมไทย” พร้อมการแสดงพื้นบ้านชุดรำแพรวากาฬสินธุ์
ไหมแพรวา สืบสานพระราชปณิธาน
ปัจจุบัน กลุ่มทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพนได้จัดตั้งเป็น “สหกรณ์ทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน” ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาของสมาชิกใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคำม่วง อำเภอสมเด็จ อำเภอสหัสขันธ์ และอำเภอสามชัย เพื่อจำหน่ายอย่างเป็นทางการ โดยมีศูนย์รวมอยู่ที่ศิลปาชีพบ้านโพน
สหกรณ์ทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน มีสมาชิกเริ่มก่อตั้งจำนวน 70 คน และเพิ่มเป็น 450 คน จนปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมดจำนวน 825 คน สมาชิกส่วนใหญ่ในอดีตมีรายได้จากการทำเกษตร เช่น ข้าว และการทอผ้าไหมแพรวา มีรายได้ประมาณปีละ 15,000 บาทต่อครัวเรือน ปัจจุบันแต่ละครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายข้าว อ้อย มันสำปะหลัง พุทรา และการทอผ้าไหมแพรวา ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 65,000-150,000 บาทต่อครัวเรือน
นางสาวจุไรรัตน์ อินทร์โต
กองประสานงานโครงการพื้นที่ 2 สำนักงานกปร.