รมว.คมนาคม สั่ง ทล.ใช้กองทุนมอเตอร์เวย์ ศึกษาแนวพัฒนาแผนแม่บทร่วมมอเตอร์เวย์-ระบบราง (MR-Map) รวดเดียว 9 แนวเส้นทาง ลงลึกรายละเอียดพร้อมทำ PPP ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินงานการพัฒนาโครงข่าย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง หรือ MR-MAP โดยคณะทำงานการบูรณาการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟร่วมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ที่กระทรวงคมนาคมแต่งตั้ง มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.,กรมทางหลวง (ทล.) ,กรมการขนส่งทางราง และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้าร่วม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการรายงานผลการศึกษาแนวเส้นทางระเบียง MR-Map จำนวน 9 เส้นทาง แบ่งเป็นแนวเหนือ-ใต้ (N-S) จำนวน  3 เส้นทาง และแนวตะวันออก-ตะวันตก (E-W) จำนวน 6 เส้นทาง โดยคณะทำงานได้มอบหมายให้กรมทางหลวงเป็นเจ้าภาพหลักในการจ้างศึกษาจัดทำแผน MR-Map และดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 เบื้องต้นกรมทางหลวง ได้แจ้งถึงการ ดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาแนวเส้นทาง ตามเป้าหมาย เพื่อให้มีการใช้เขตทางรวมกัน ระหว่างมอเตอร์เวย์ และโครงการรถไฟระบบต่างๆ โดยมีการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา และใช้เงินกองทุนมอเตอร์เวย์ ซึ่งผลการศึกษาจะแล้วเสร็จ นำไปสู่การออกแบบรายละเอียดแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เตรียมจัดทำการลงทุนแบบ PPP ในโครงการนำร่องในเดือนกันยายน 2564 สำหรับ 4 แนวเส้นทาง ที่มีความพร้อม เริ่มจากแนว ระนอง-ชุมพร ระยะทาง 120 กม. ที่มีการศึกษาแนวเส้นทางเกี่ยวกับการพัฒนาแลนด์บริดจ์ไว้อยู่แล้ว รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในเรื่องของการศึกษาเพื่อนำไปสู่การออกแบบรายละเอียดและเตรียมดำเนินการลงทุนแบบ PPP นั้น. เมื่อกรมทางหลวงยืนยันความพร้อมของเงินงบประมาณจากกองทุนฯในการศึกษา ก็ขอให้ดำเนินการศึกษารายละเอียดโครงการไปทั้ง 9 แนวเส้นทางครั้งเดียว เมื่อการศึกษาทยอยแล้วเสร็จในปี 2564 จะได้ทยอยทำการลงทุนแบบ PPP ไปทีละเส้น เพื่อให้เกิดโครงการตามแผน MR-Map อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ "การดำเนินการโครงการนี้ เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และกระทรวงคมนาคม ที่จะให้มีการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่มีระเบียบ มีประสิทธิภาพ ลดการลงทุนซ้ำซ้อน ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ทิ้งใครภูมิภาคใดไว้ข้างหลัง ดังนั้น ขอให้กรมทางหลวงเดินหน้าศึกษาไปเลย ทั้ง 9 แนวเส้นทาง เมื่อแล้วเสร็จจะได้ทยอยลงทุน ทำ PPP ต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นไป" นอกจากนี้ได้กำชับเรื่องการศึกษาแนวเส้นทางให้มีการทำความเข้าใจกับชุมชน 2 ข้าง ตลอดแนวเส้นทาง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการต่อต้านจากชุมชนเหมือนบางโครงการที่มีในอดีต รวมทั้งในอนาคตเมื่อการศึกษา-ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ โครงการเหล่านี้ จะต้องมีการจัดทำโรดโชว์ เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในโครงการณ์ที่นักลงทุนสนใจด้วย สำหรับแนวเส้นทาง MR-Map 9 เส้นทาง ที่จะใช้งบประมาณจากกองทุนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง มาศึกษา และศึกษาถึงขั้นตอนดำเนินการขั้นตอนการให้เอกขนร่วมลงทุน (PPP) แบ่งเป็นเส้นทางเหนือลงใต้จำนวน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางเชียงราย-สงขลา, เส้นทาง หนองคาย-ท่าเรือแหลมฉบัง และเส้นทางบึงกาฬ-สุรินทร์ รวมระยะเส้นทางรวมทั้งหมด 2620 กิโลเมตร , ส่วนเส้นทางตะวันออกไปยังตะวันตก จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,380 กิโลเมตร ประกอบไปด้วย เส้นทางตาก-นครพนม , เส้นทาง กาญจนบุรี-อุบลราชธานี, เส้นทาง กาญจนบุรี-สระแก้ว, เส้นทาง กาญจนบุรี-ตราด และเส้นทาง ชุมพร-ระนอง และ เส้นทางภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี ส่วนเส้นทาง ที่กรมทางหลวง ยืนยันความพร้อม ทำ PPP ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป คือ 4 แนวเส้นทาง ประกอบด้วย 1.เส้นทาง ชุมพร-ระนอง , 2. เส้นทาง ชลบุรี(ท่าเรือแหลมฉบัง)-นครราชสีมา , 3. เส้นทางนครราชสีมา-อุบลราชธานี ,4. เส้นทาง นครราชสีมา-ขอนแก่น- หนองคาย และ เส้นทางนครราชสีมา—ขอนแก่น