“อธิบดีกรมศิลป์”ยันบูรณะพระปรางค์วัดอรุณ ยึดหลักวิชาการ ถอดแบบของเดิมอย่างละเอียด ชี้กระเบื้องเก่าเสื่อมสภาพเซาะออกเพียง 40% นอกนั้นเป็นของเก่า พร้อมแจงพระปรางค์สีขาว เกิดจากสีน้ำปูน เหมือนสมัยบูรณะในรัชกาลที่ 4-5
เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวชี้แจงกรณีการบูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ว่า การบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นไปตามหลักวิชาการการบูรณะทุกประการ เพื่อคงความเป็นโบราณสถานที่มีชีวิต และสำคัญของชาติ ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งการบูรณะครั้งนี้ กรมศิลปากรได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพก่อนดำเนินงานบูรณะ โดยเน้นให้ความสำคัญต่อการสำรวจและเก็บข้อมูลพระปรางค์ประธาน ปรางค์ประจำมุม บุษบกประจำทิศอย่างละเอียด รวมทั้งมีงานกะสวนและลอกลายรูปแบบศิลปกรรมต่างๆ เป็นการเก็บข้อมูลไว้ เพื่อเป็นหลักฐานดำเนินงานบูรณะไม่ให้ต่างจากของเดิม ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเก็บลวดลายกระเบื้องประดับพระปรางค์วัดอรุณฯ อย่างละเอียด
นายอนันต์ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจลวดลายประดับพระปรางค์วัดอรุณมีทั้งหมด 120 ลวดลาย โดยการบูรณะกระเบื้องเคลือบที่เสื่อมสภาพหรือหลุดล่อนหายไป ทางกรมศิลปากรใช้ข้อมูลที่ได้ศึกษาก่อนหน้านี้ โดยมีการจัดทำขึ้นมาใหม่ยึดสีและลวดลายแบบดั้งเดิม โดยกระเบื้องที่เสื่อมสภาพได้ดำเนินการเซาะออกไป 40% ไม่น้อยกว่า 120,000 ชิ้น จากทั้งหมดกว่า 300,000 ชิ้น ดังนั้น ลวดลายกระเบื้องของเดิมยังคงเหลืออยู่ 60% จึงยืนยันว่ากรมศิลปากรไม่ได้ถอดกระเบื้องลวดลายของเดิมออกทั้งหมด และใช้ระยะเวลาบูรณะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2560
“ก่อนการบูรณะเราได้เก็บข้อมูลทั้งหมด หากไปดูจุดเฉพาะจะเห็นว่าลวดลายไม่ต่างจากบูรณะมากนัก แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเก็บลายละเอียดบางขั้นตอนปูนที่ฉาบอาจจะไปทับตามขอบ ตามเส้น ตามลวดลายบ้าง ส่งผลให้ลวดลายบางจุดไม่ชัดเจนจากกรณีดังกล่าว โดยหลังจากนี้กรมศิลปากรจะเข้าไปสำรวจและรายละเอียดที่ไม่เรียบร้อยอีกครั้ง เนื่องจาก กรมศิลปากร เพิ่งได้นำนั่งร้านลงจากพระปรางค์ ส่วนกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า พระปรางค์กลายเป็นสีขาว และไม่เหมือนของเดิมนั้น ไม่เป็นความจริง สีขาวของพระปรางค์ เกิดจาการบูรณะที่ฉาบปูนตำ โดยเมื่อเทียบกับภาพถ่ายการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 จะพบว่ามีสีขาว ไม่ต่างจากการบูรณะครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้กองโบราณคดีจัดทำจดหมายเหตุการณ์บูรณะพระปรางค์วัดอรุณ เพื่อบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของชาติด้วย ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้ว” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว
ด้าน พระศากยปุตติยวงศ์ (ต่อศักดิ์ สุนทรวาที) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ในฐานะประธานโครงการบูรณะพระปรางค์และพระมณฑป วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า วัดอรุณฯ ร่วมกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ดำเนินการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี ซึ่งจากขั้นตอนในการบูรณะกรมศิลปากรทำการศึกษาค้นคว้าให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและรักษาความเป็นของแท้ดั้งเดิมให้มากที่สุด และควบคุมดูแลโดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่มีความชำนาญ ทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มดำเนิน จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ อย่างไรก็ดี หากมีผู้ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ สามารถเข้ามาชมความงดงามของพระปรางค์วัดอรุณฯ ได้ด้วยตนเอง
“อาตมาขอชี้แจง กระเบื้องสีที่นำขึ้นไปประดับบนองค์พระปรางค์ เป็นการซ่อมเปลี่ยนแทนวัสดุเดิม ส่วนพระปรางค์ของเดิมก่อนการบูรณะนั้น จะมีสีออกดำเกิดจากคราบตะไคร่และเชื้อรา จึงทำการซ่อมล้าง เอาสิ่งของที่เสื่อมสภาพออก ไป และจำเป็นต้องใช้ของใหม่ปิดทับ ส่วนที่เป็นของดั้งเดิมที่ยังคงสภาพดี เรายังคงไว้สภาพเดิม จึงขอยืนยันว่า สภาพพระปรางค์ที่เก่าแก่สมัยเดิมเป็นสีขาวชัดเจน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเป็นเวลานาน จึงเกิดคราบตะไคร่ ทำให้พระปรางค์มีสีเขียวขุ่นเกาะติดมาเป็นเวลานาน พอทำความสะอาดคราบตะไคร่น้ำและทาสีน้ำปูน จึงทำให้พื้นหลักเป็นสีขาว ตามพระปรางค์แบบดั้งเดิม ส่วนเศษวัสดุจำพวกเศษกระเบื้องที่ผุพังหรือเศษปูนปั้นจากพระปรางค์ ถูกนำไปเก็บไว้ เพื่อใช้ประโยชน์ในวันข้างหน้า เช่น นำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ดีกว่านำไปทิ้ง” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ กล่าว