กรมชลประทาน เดินหน้าก่อสร้าง 2 โครงการสำคัญในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้เสร็จตามแผนฯที่วางไว้ หวังเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เมื่อวันที่ 26 ม.ค. นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นายชูชาติ รักจิตร ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง นายสุริยพล นุชอนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ไปติดตามความก้าวหน้าโครงการเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำปากตะคลอง และงานก่อสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงการลงพื้นที่เพื่อติดตาม 2 โครงการสำคัญ ของจังหวัดฉะเชิงเทราว่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำปากตะคลอง ตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง เป็นโครงการสำคัญที่กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 4 เครื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และผลักดันน้ำไปทางแม่น้ำบางปะกง เป็นการตัดยอดน้ำที่จะไหลลงไปตามคลองใหม่(คลองชายทะเล) ออกสู่ทะเลอ่าวไทยในช่วงฤดูน้ำหลาก ทั้งยังช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและโรงงานในเขตจังหวัดฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ รวมทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อรับทราบความคืบหน้าพร้อมวางแนวทางการดำเนินงานในส่วนที่เหลือของโครงการ โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานที่ได้วางไว้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ สำหรับโครงการสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำบางขนาก พร้อมอาคารประกอบ ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรานั้น ได้สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาการบริหารสัญญาโครงการฯ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เต็มประสิทธิภาพ เพราะโครงการสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำบางขนาก ถือเป็นโครงการสำคัญที่จะเข้ามาช่วยในการเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพญฯชั้นในลงสู่แม่น้ำบางปะกง บริเวณตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว โดยการปรับปรุงสถานีสูบน้ำบางขนาก ซึ่งเดิมมีศักยภาพการสูบน้ำได้เฉพาะในพื้นที่โครงการ เพิ่มศักยภาพการระบายน้ำด้วยการก่อสร้างสถานีสูบน้ำชนิดหอยโข่งแนวตั้ง พร้อมประตูระบายน้ำที่ระบายน้ำได้สูงสุด 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ช่วยลดปริมาณน้ำหลากที่จะไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง พร้อมกับรับน้ำที่มาจากคลอง 13–17 ที่อยู่ทางตอนบนด้วย ทั้งนี้ เมื่อทั้งสองโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้กับจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสมุทรปราการ รวมไปถึงกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ