นักมานุษยวิทยาเสนอให้มีการทบทวนมุมองปรับเปลี่ยนทิศนคติที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่
ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นโอกาสที่ทำให้สังคมต้องหันมาทบทวนมาตรการและแนวทางการพัฒนาของรัฐที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะหลายปัญหาได้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน จากเดิมที่พวกเขาเคยพึ่งพาและจัดการตนเองได้ แต่เมื่อต้องถูกอพยพโยกย้ายจากพื้นที่ดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตพึ่งพารัฐและระบบตลาดภายนอกมากขึ้น บทเรียนที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้นำไปสู่การมีความมั่นคงในการดำรงชีวิตวิถีเดิม รวมถึงระบบกฎหมาย การศึกษา สาธารณสุข หรือกระบวนการยุติธรรม แทบไม่ได้เอื้อต่อวิถีชีวิตพวกเขาเลย
ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาฯ กล่าวอีกว่า ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นประเด็นคำถามต่อรัฐที่จะเข้ามาจัดการ ดูแลการอยู่ร่วมกันของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ จึงเสนอให้มีการทบทวนมุมองและปรับเปลี่ยนทิศนคติที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะการให้ภาพเหมารวมใน 3 รูปแบบคือ เป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่า การเข้าเมืองผิดกฎหมาย ผู้ค้ายาเสพติด ภาพเหมารวมเหล่านี้ได้ถูกผลิตซ้ำๆ ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจ นำมาสู่อคติและการประณามกลุ่มชาติพันธุ์มาตลอด เห็นได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการปัญหาเพียงอย่างเดียว จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้
“ขณะเดียวกันการนำชาวบ้านมาอยู่อาศัยในพื้นที่แห่งใหม่นั้น ยืนยันแล้วว่าไม่ได้เป็นแนวทางที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในการดำรงชีวิตได้อย่างแท้จริง ดังนั้นหากมีการทบทวนและปรับเปลี่ยนมุมมอง โดยใช้การพิจารณาแบบหลักเหตุผล และมุมใจเขาใจเรา ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจกัน และกลุ่มชาติพันธุไม่ถูกตีตราเป็นจำเลยสังคมฝ่ายเดียว” ดร.นพ.โกมาตร ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาฯ กล่าว