กรมประมง เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่น “สัตว์น้ำไทย ปลอดภัย กินได้ไร้ COVID-19” หลังออกมาตรการเฉพาะกิจคุมเข้มกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานพิธีมอบหนังสือรับรองการปฏิบัติตามมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) สำหรับ Modern Trade ของกรมประมงให้แก่บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทดังกล่าวให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่1) ของกระทรวงสาธารณสุขในส่วนที่เกี่ยวข้อง และการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านการปฏิบัติตามมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) สำหรับ Modern Trade ของกรมประมง ณ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สาขานครอินทร์ จังหวัดนนทบุรี ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยต้องประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่และมีการพบแรงงานที่ทำงานในแพกุ้งและบางส่วนในอุตสาหกรรมแปรรูปติดเชื้อ COVID-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้กระทบต่อความเชื่อมั่นต่ออาหารทะเลไทย ทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวประมงได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมตลอดห่วงโซ่การผลิต กรมประมงได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวจึงได้มีกำหนดมาตรฐานเฉพาะกิจเพิ่มเติมจากมาตรฐานสุขอนามัยครอบคลุมในทุกกระบวนการการตรวจสอบตั้งแต่กระบวนการขนส่งจากแหล่งจับ แหล่งเลี้ยง แหล่งกระจายสินค้า จนกระทั่งการเข้าสู่ระบบจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในตลาดต่างๆ และล่าสุดได้มีการออกกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัส COVID–19 ในสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยมาตรการเฉพาะกิจดังกล่าวมีผลบังคับใช้กลุ่มผู้ประกอบการกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้อง 4 ประเภท ได้แก่ 1.เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2.ชาวประมง-เรือประมง 3.ผู้ประกอบการสะพานปลา-ตลาดกลางค้าสัตว์น้ำ 4.ผู้ประกอบการร้านค้า Modern Trade สำหรับผู้ประกอบการร้านค้า Modern จะต้องปฏิบัติตามแนวทางด้านสาธารณสุขในส่วนของคำแนะนำสำหรับร้านค้าสะดวกซื้อ (ซุปเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ท ร้านขายของชำ) กำหนดให้ผู้จำหน่ายสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ให้กับสถานประกอบการต้องมีการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนฯ ทำความสะอาดพาหนะที่ขนส่งสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ ก่อนมีการขนถ่ายเข้าสู่สถานประกอบการด้วยคลอรีน หรือน้ำยาฆ่าเชื้ออื่นๆ ที่เหมาะสม คัดกรองพนักงานที่มากับพาหนะขนส่งสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ โดยต้องบันทึกข้อมูลประวัติเสี่ยงก่อนเข้าสถานประกอบการและปฏิบัติตาม มาตรการทางสาธารณสุข และเปลี่ยนถ่ายภาชนะที่ขนส่งสัตว์น้ำจากผู้จำหน่ายเป็นภาชนะของสถานประกอบการวางสัตว์น้ำเพื่อรอจำหน่ายแยกตามชนิด ประเภทสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสดควรใช้น้ำแข็งในปริมาณที่เพียงพอต่อการรักษาอุณหภูมิสัตว์น้ำให้เย็นอยู่เสมอ ใช้อุปกรณ์สำหรับจับสัตว์น้ำ หรือถุงมือแบบใช้ครั้งเดียว ในบริเวณที่วางจำหน่ายสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนฯ จากการสัมผัสของผู้ซื้อและสุ่มตรวจการปนเปื้อนของไวรัสโคโรนา 2019 ในสัตว์น้ำ ในความถี่ที่เหมาะสมโดยผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขและมาตรการเฉพาะกิจที่กรมประมงกำหนดดังกล่าวข้างต้นแล้วจะได้รับหนังสือรับรองในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 จากรมประมง (อายุหนังสือรับรอง 1 ปี) เพื่อเป็นการยืนยันและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ​​ โดยในวันนี้นอกจากมีการมอบหนังสือรับรองฯ ให้กับผู้ประกอบการร้านค้า Modern Trade บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ทางกรมประมงนำโดยดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง และคณะ ได้ตรวจเยี่ยมโซนปลาและอาหารทะเล พบว่าโซนดังกล่าวมีมาตรการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัส COVID–19 ในสถานที่วางจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำได้อย่างเหมาะสม อาทิ มีการบริหารจัดการการวางจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำจัดแยกตามชนิด การล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณพื้นที่ที่จำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์ มีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนจากผู้บริโภคที่เข้ามาเลือกซื้อสินค้า ฯลฯ จะเห็นได้ว่าความร่วมมือดังกล่าวนอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคแล้วยังเป็นการยืนยันได้ว่าสัตว์น้ำไทยปลอดภัยไร้การปนเปื้อนของเชื้อไวรัส COVID–19 อย่างไรก็ตามถืงแม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะถูกกำหนดใช้เป็นการเฉพาะกิจในช่วงการแพร่ระบาดฯ แต่หากพ้นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ กรมประมงยังขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการยังคงปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานต่อไปเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสัตว์น้ำ ส่วนรายละเอียดการออกใบรับรองฯ หากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชาวประมง-เรือประมง สะพานปลา-ตลาดกลางค้าสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการร้านค้า Modern Trade ดำเนินการตามกำหนดมาตรการดังกล่าว โดยสามารถขอรับการตรวจประเมินได้ที่สำนักงานประมงจังหวัด หรือ สำนักงานประมงอำเภอทั่วประเทศ หรือ ศูนย์วิจัยฯ ของกรมประมงในแต่ละจังหวัด โทรศัพท์สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานสินค้าประมงและหลักฐานเพื่อการสืบค้น (กมป.) โทร. 0 2597 9710 หรือ 0 2579 8200 ในวันเวลาราชการ