ชาวบ้านใน อ.กุดจับ จ.อุดรธานี ร้องกรมทางหลวงทำถนนเสี่ยงอันตรายเกิดอุบัติเหตุบ่อยและมีผู้เสียชีวิต วอนให้แก้ไขเป็นการขยายถนนเป็น 4 เลนแล้วทำเป็นท่อลอดแทน เผยก่อสร้างไม่ถามความเห็นชาวบ้านสักคำ เมื่อเสร็จทำชาวบ้านเสี่ยงตายรายวัน วันที่ 25 ม.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวได้รับร้องเรียนจากตัวแทนชาวบ้านใน อ.กุดจับ จ.อุดรธานี จากกรณีที่กรมทางหลวง ได้มีการปรับปรุงถนนสายอุดรธานี-บ้านเพีย อ.กุดจับ จ.อุดรธานี ระหว่างกิโลเมตร 19-21 ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร จากเดิมซึ่งเป็นถนนสองเลนด้านข้างเป็นคลองน้ำ ซึ่งมีการทำพื้นผิวถนนใหม่และเปลี่ยนจากคลองน้ำรางระบายน้ำแบบเปิด ไว้ริมทางทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งจะมีการถมดินเป็นทางเข้าบ้านของประชาชนเป็นช่วง และ บางส่วนก็เป็นรางระบายน้ำแบบเปิด หลังจากก่อสร้างเสร็จสภาพถนนมีความราดเอียงของขอบถนน และรางระบายน้ำต่ำ โดยถนนเส้นนี้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ล่าสุดก็มีอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว1 ราย โดยผู้สื่อข่าวได้พบกับตัวแทนชาวบ้าน และผู้บริหารเทศบาลตำบลกุดจับ ซึ่งได้พาเดินดูถนน และ รางระบายน้ำ 2 ฝั่งถนน ซึ่งพบว่ามีการปรับปรุงสภาพของผิวถนนและมีการทำรางระบายน้ำแบบเปิด ซึ่งบริเวณขอบถนนไม่มีความลาดเอียงอีกเสมอกันกับพื้นที่ของไหล่ทาง อีกทั้งพื้นที่ของไหล่ทางก็น้อย และ รางระบายน้ำอยู่ต่ำกว่าของถนน อีกทั้งในส่วนของรางระบายน้ำบางจุดซึ่งไม่ได้อยู่หน้าบ้านจะเป็นแบบเปิดไม่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์และแผงกันบอก ถ้าหากมีรถจักรยานยนต์ล้มหรือรถเกิดอุบัติเหตุก็จะมีโอกาสตกลงรางระบายน้ำได้ ในส่วนรางระบายน้ำด้านหัวและท้ายก็ไม่มีช่องทางระบายน้ำออกไปยังลำคลองสาขา นายธนสิษฐ์ อรุณฐิติวัฒน์ แอดมินเพจกุดจับออนไลน์ อีสานอินดี้ และตัวแทนชาวบ้าน บอกว่าที่ได้มีการร้องเรียนครั้งนี้เนื่องจากมีการก่อสร้างปรับปรุงถนนและรางระบายน้ำ และมีประชาชนใน อ.กุดจับ ที่ใช้รถใช้ถนนสัญจรเกิดความเสี่ยงว่าจะเกิดอันตรายเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น จึงได้มาพูดคุยหาทางแก้ไข จึงได้ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน โดยโครงการนี้ปัญหาคือการสร้างคลองระบายน้ำที่ไม่เกิดประโยชน์กับชุมชน ปกติบริเวณริมถนนจะมีต้นคูณปลูกอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง แต่เมื่อมีการโค่นต้นคูณลงชาวบ้านดีใจ นึกว่าจะได้ถนน 4 เลน ชาวบ้านก็ไม่ได้ว่าอะไร เมื่อมาเป็นคลองน้ำแล้ว แต่คลองน้ำที่ได้มาไม่สามารถใช้ได้จริงเนื่องจากที่หัวคลองและท้ายคลองเป็นแบบหัวกุดท้ายด้วนไม่มีทางระบาย และบริเวณถนนมีไหล่ทางความลาดเอียงลงไปทางคลอง ซึ่งมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้งและก็มีผู้เสียชีวิต ซึ่งหลังจากทำเสร็จก็ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาน้ำท่วมขังไม่ได้ ปกติบริเวณนี้จะมีน้ำขังเป็นแอ่งเล็กๆ อยู่หน้าปั๊มน้ำมัน เป็นแค่น้ำขังไม่ใช้น้ำท่วมใหญ่อะไร แต่เนื่องจากมีโครงการ งบประมาณ 7ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการป้องกันน้ำท่วม แต่คลองเป็นแบบหัวกุดท้ายด้วน และมีการทำพื้นผิวถนนใหม่ แต่ไหล่ทางมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ซึ่งอยากให้มีการแก้ไขเป็นการขยายถนนเป็น 4 เลนแล้วทำเป็นท่อลอดแทน ด้าน นายชัชวาล ลือคำหาญ นายกเทศมนตรีตำบลกุดจับ เปิดเผยว่า ถนนสายอุดรธานี-กุดจับ ในเขตเทศบาลตำบลกุดจับ ซึ่งทางกรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบได้มาทำโครงการซ่อมผิวถนนและทำรางระบายน้ำเมื่อปีงบประมาณ 2563 ที่แล้ว ซึ่งหลังจากก่อสร้างเสร็จปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือการตัดต้นคูณริมทางที่มีการปลูกกันไว้ นานหลายปี โดยไม่ได้บอกชาวบ้านและแจ้งกับทางเทศบาลฯ พอเริ่มก่อสร้างทางเทศบาลฯก็คิดว่าเป็นการขยายถนนจากเดิม 2 เลนเป็น 4 เลน ตามที่เทศบาลเคยทำเรื่องเสนอกรมทางหลวงไว้ แต่พอมาทำกับเป็นรางระบายน้ำแบบรางเปิด ซึ่งในฝั่งที่เป็นหน้าบ้านของประชาชนต้องมีการใช้ทุนของตนเองมาฝังท่อและถมดินทำทางเข้าบ้านกันเอง เพราะได้รับความเดือดร้อน แต่โครงการของกรมทางหลวงเป็นรางเปิด ก็เกิดมีปัญหาคือมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหลายครั้งจนมีผู้เสียชีวิตบนถนนสายนี้ ซึ่งทางเทศบาลได้แจ้งกับกรมทางหลวงไปแล้วว่า ในการทำโครงการของกรมทางหลวงจะมีผลตามมาคือการใช้ประโยชน์จะไม่ได้ประโยชน์และจะเกิดผลตามมาคืออุบัติเหตุแล้วก็เกิดขึ้นจริง ในนามผู้บริหารท้องถิ่นก็มีความน้อยใจในเรื่องของหน่วยงานที่สูงกว่าเมื่อลงพื้นที่ทำงานไม่ได้แจ้งให้ท้องถิ่นทราบเกี่ยวกับโครงการและรูปแบบของโครงการ ซึ่งโครงการที่ใช้เงินกว่า 7 ล้านถึง 10 ล้าน ควรที่จะมาชี้แจงและสอบถามชาวบ้านว่าต้องการอะไรแบบไหน เพราะเสียดายงบประมาณที่ทำลงไป ตนก็อยากฝากไปยังหน่วยงานที่สูงกว่า ให้มีการแจ้งและสอบถามความต้องการของประชาชนก่อน และโครงการนี้คงเป็นโครงการสุดท้าย แต่ถ้ามีโครงการใหม่ก็ควรจะมาพูดคุยสอบถามชาวบ้านและท้องถิ่นก่อนว่าต้องการอะไรหรือไม่ต้องการอะไร และเป็นการมีส่วนร่วมในกำหนดทิศทางการพัฒนา ซึ่งในช่วงที่ทำการก่อสร้างตนได้ทำหนังสือท้วงติงไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีแล้วแต่ได้รับการชี้แจงว่าเป็นการอนุมัติโครงการไปแล้วแก้ไขไม่ได้แล้ว ซึ่งทางท้องถิ่นก็ได้แต่ดูการเปลี่ยนแปลงของถนนเส้นนี้ แต่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบลงมาแก้ไข ให้ดีขึ้นกว่านี้ โดยทางทางเทศบาลไม่สามารถเข้าไปทำอะไรกับแบบของถนนและรางระบายน้ำได้ มีเพียงการเข้ามาทำไฟฟ้าส่องสว่าง ซึ่งก็ต้องใช้เวลากว่า2เดือนทางเทศบาลก็ต้องใช้งบประมาณของทางเทศบาลเข้ามาซ่อมแซมไฟฟ้าตามเส้นทางให้กับประชาชน.