รายงาน: เสียงสะท้อน “กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย” ถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์ จากงานเสวนาออนไลน์ เรื่อง “จากกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์” จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับภาคีเครือข่าย เมื่อเร็วๆ นี้ นายอภิสิทธิ เจริญสุข ตัวแทนจากชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย กล่าวว่า ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยเผชิญกับความทุกข์ยากมานานนับ 20 ปี ถูกบังคับโยกย้ายจากใจแผ่นดินซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมมาอยู่ในพื้นที่แห่งใหม่ที่รัฐจัดไว้ให้ แต่ก็ไม่เพียงพอและไม่สามารถทำกินตามวิถีดั้งเดิมได้ แม้จะมีหน่วยงานเข้ามาพัฒนาให้เป็นนาขั้นบันได แต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นหิน ไม่มีแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อการทำการเกษตร หลายครอบครัวต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปเป็นแรงงานรับจ้างนอกชุมชน เมื่อสถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดอีกรอบ จึงซ้ำเติมความเดือดร้อนและทุกข์ยาก เพราะคนในชุมชนไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้เลย การดำรงชีวิตตามวิถีดั้งเดิม แม้แต่การทำไร่หมุนเวียนที่ถือเป็นรูปแบบของการพึ่งพาตนเองก็ทำไม่ได้ “ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยได้นำเสนอปัญหา ยื่นข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขและตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านได้ โดยเฉพาะข้อเสนอการกลับไปอยู่ในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิมที่ชาวบ้านจากมา” นายอภิสิทธิ กล่าว ด้าน ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) กล่าวว่า จากการนำชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยในกลางป่าแก่งกระจาน อพยพโยกย้ายมาอยู่ในพื้นที่แห่งใหม่ ที่ไม่สามารถดำรงชีวิตตามวิถีดั้งเดิมได้ สร้างความเดือดร้อนและทุกข์ยากแก่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยมาอย่างยาวนาน กระทั่งปัจจุบันเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับมาระบาดรอบสอง จึงตอกย้ำความทุกข์ยากต่อการดำรงอยู่ โดยทางเลือกสุดท้ายที่พอจะเป็นความหวัง คือการกลับไปอยู่อาศัยในแผ่นดินดั้งเดิมที่จากมา ในระยะสั้นจึงมีการเสนอให้ยุติการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหากับชาวกะเหรี่ยงที่เดินทางกลับไปที่ตั้งดั้งเดิม และให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ขึ้นมาทำหน้าที่ศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อเสนอทางออก ทั้งกล่าวอีกว่า ได้เร่งผลักดันกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยศมส. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำ รวมถึงร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎรกำลังดำเนินการพิจารณารายละเอียด และร่างพ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเป็นร่างของภาคประชาชน อยู่ระหว่างการรวบรวบรายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณาร่วมกันต่อไป โดยการจัดทำกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ถือเป็นความหวังที่จะทำให้เกิดมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานของการเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม ขณะเดียวกัน เป็นการเปิดพื้นที่ให้มีกลไกในเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์