ผ่านไปแล้ว สำหรับ พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ “นายโจ ไบเดน” หรือที่ชื่อเต็มแต่ไม่ค่อยเรียกขานกันว่า “โจเซฟ โรบิเนตต์ ไบเดน จูเนียร์” เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ตามวันเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้เขา ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการนับตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. ดังกล่าว โดยเขาจะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลกนี้ ถึงปี 2568 หรือ 4 ปีข้างหน้า และก็ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว สำหรับในช่วง 100 วันแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีว่าจะเป็นไปอย่างไร? โดยทั้งในสหรัฐฯ และโลก ล้วนต่างจับตาจ้องมองต่อการบริหารประเทศของประธานาธิบดีคนใหม่ในช่วง 100 วันแรกกันเป็นพิเศษ โดยในกรณีของประธานาธิบดีไบเดนผู้นี้ เหล่านักวิเคราะห์ ล้วนแสดงทรรศนะแบบฟันธงตรงกันเป็นเสียงเดียวว่า จะเป็น 100 วันที่ดุเดือดเลือดพล่าน สำหรับการนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในทำเนียบขาว ของนายไบเดนเลยทีเดียวก็ว่าได้ ทั้งนี้ ก็ด้วยปัญหา ที่นับได้ว่า กลายเป็นวิกฤติไปแล้ว ที่ประเทศกำลังเผชิญ นั่นคือ วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ถึง ณ ปัจจุบัน จนส่งผลให้สหรัฐฯ รั้งตำแหน่งอันดับ 1 ของโลก ทั้งในส่วนของผู้ป่วยติดเชื้อสะสมจำนวนกว่า 25 ล้านคน จากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อทั่วโลกที่มีอยู่ทั้งสิ้นกว่า 97 ล้านคน ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตในสหรัฐฯ มีจำนวนเกือบ 4.2 แสนคน จากจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตกว่า 2 ล้านคนทั่วโลก เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ไวรัสโควิดฯ ในสหรัฐฯ แล้ว ถึง ณ ชั่วโมงนี้ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายจะบรรเทาเบาบางไปได้อย่างไร แม้ว่าจะมีวัคซีน ที่ประเทศได้ดำเนินวิจัยพัฒนาหลายขนาน ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นอาทิ ก็เป็นที่จับตาว่า 100 วันแรกของประธานาธิบดีไบเดน จะทำฉันใดที่ส่งผลให้วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายในสหรัฐฯ ได้ทุเลาเบาบาง ความร้ายกาจของของวิกฤติไวรัสมรณะ มิใช่แต่เฉพาะทำร้ายระบบสาธารณสุขของสหรัฐฯ เท่านั้น ทว่า ยังส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ กิจการต่างๆ ต้องปิดตัวทั้งในแบบชั่วคราวและถาวร รวมถึงการว่างงานที่มีอัตราตัวเลขสูง ตัวเลขของทางการสหรัฐฯ และสอดคล้องกับการเปิดเผยของประธานาธิบดีไบเดน ที่ระบุไว้ก่อนหน้าว่า 18 ล้านคนของชาวอเมริกันยังต้องพึ่งพากับเงินประกันว่างงาน นั่นหมายความว่า อเมริกันชนจำนวนดังกล่าว ยัง “ตกงาน” อยู่นั่นเอง ส่วนตัวเลขของกิจการธุรกิจขนาดเล็ก ก็ปรากฏว่ากว่า 4 แสนแห่ง ต้องปิดตัวไปอย่างถาวร เพราะพิษโควิดฯ ด้วยประการฉะนี้ ประธานาธิบดีไบเดน ได้นำเสนอแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจให้พ้นจากเหววิกฤติข้างต้นก่อนหน้าที่เขาจะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อวันก่อน ด้วยเม็ดเงินสูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีไบเดน กำหนดให้เป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติเลยทีเดียว ที่เขาจะผลักดันออกมาแผลงฤทธิ์สำแดงเดชช่วยเหลือเยียวยาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่กำลังภินท์พังครั้งนี้ให้ได้ ท่ามกลางเสียงคัดค้าน ซึ่งแน่นอนว่ามาจากพรรครีพับลิกัน ที่ได้รับการคาดหมายว่า จะสัประยุทธ์กันฝุ่นตลบทั้งสองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ในการประชุมที่จะมีขึ้น โดยในประเด็นนี้ เหล่านักวิเคราะห์จากสำนักต่างๆ เช่น จากศูนย์ศึกษาประธานาธิบดีและสภาคองเกรสสหรัฐฯ บอกว่า ไม่ค่อยได้เห็นเหมือนกันที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้ารับตำแหน่งพร้อมกับการผลักดันแผนการเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นนี้ อย่างไรก็ดี คาดว่าแม้จะต่อสู้กันในสภาอย่างดุเดือด แต่แผนการเงินช่วยเหลือน่าจะผ่านการรับรองจากทั้งสองสภามาได้ นอกจากเรื่องแผนการเงินช่วยเหลือดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรืภาวะโลกร้อน และการปฏิรูปนโยบายคนต่างด้าว จากสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำเอาจนกลายเป็นปัญหา ซึ่งก็จะเป็นวาระระดับชาติที่ประธานาธิบดีไบเดน หมายมั่นปั้นมือว่า จะทำให้ประสบความสำเร็จลุล่วงในช่วง 100 วันแรกนี้ให้จงได้ อย่างไรก็ดี ก็จะมีเรื่องผลเลือกตั้งประธานาธิบดีที่หลายฝ่ายยังคงคลางแคลงใจ ให้ประธานาธิบดีไบเดน ต้องเร่งสะสางในห้วง 100 วันแรก ทั้งในสภา และนอกสภา ที่คาดว่า จะยังมีชุมนุมประท้วงตามท้องถนน รบกวนใจประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่เป็นระยะๆ