จากความสวยความงามในยุคนี้ที่คนไม่น้อยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ถือกันว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ จึงก่อให้เกิดธุรกิจด้านความงามผุดกันเป็นดอกเห็ด และมาพร้อมกับอันตราย... นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) ก.สาธารณสุขเผยว่า ปัจจุบันที่กระแสความสวย ความงามแบบหนุ่ม-สาวเกาหลีเข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทยผ่านสื่อหลากหลายแขนง ส่งผลให้เกิดการปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติในกลุ่มวัยรุ่นว่าคนหล่อ-สวย ต้องผอมเพรียว ดวงตาโต รูปจมูกปลายคม โครงหน้าเล็กในรูปแบบเกาหลีเท่านั้น ทำให้มีผู้ตัดสินใจเข้ารับบริการศัลยกรรม หรือเสริมความงามจากสถานพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ยังมีคนไม่น้อยที่ตัดสินใจเลือกใช้บริการเสริมความงามจากสถานพยาบาลเอกชนเพียงเพราะคำบอกเล่าปากต่อปากว่าดี หรือรับชมโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโซเชียล ผ่านเว็บไซต์, เฟซบุ๊ค และไลน์ ซึ่งมักจะใช้ข้อความ หรือรูปภาพโฆษณาโอ้อวดเกินจริง อาทิ ดีที่สุด, แห่งแรก, แห่งเดียวในโลก, ราคาถูกที่สุด, หายขาด, รับรองผล 100% หรือใช้ภาพเปรียบเทียบผลลัพธ์ก่อนและหลังรับบริการ ฯลฯ ในการโฆษณาเพื่อเพิ่มยอดเข้าชม (View) หรือยอดไลก์ (Like) ให้ดูน่าเชื่อถือ ดังนั้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย และป้องปราม มิให้สถานพยาบาลโฆษณาโอ้อวดเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค จึงให้กองกฎหมายเป็นด่านหน้า จัดทีมเฝ้าระวังตรวจสอบโฆษณาของสถานพยาบาล หรือคลินิกเสริมความงามในสื่อทุกประเภท โดยเฉพาะสื่อโซเชียล จากผลสำรวจปี 59 มีคนไทยกว่า 38 ล้านคน ที่ใช้สื่อโซเชียล และร้อยละ 86 ใช้งานทุกวัน จึงเสี่ยงที่จะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจนตกเป็นเหยื่อสถานพยาบาลเถื่อน หมอเถื่อน และได้รับบริการที่ไร้คุณภาพ มาตรฐาน จนเกิดผลข้างเคียงทั้งใบหน้าผิดรูป แผลเน่า หรือมีแผลเป็น แทนที่จะได้สวย หล่ออย่างที่หวัง” ขณะที่นายดนัย สุวรรณา ผอ.กองกฎหมายเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 ประกอบกับประกาศก.สาธารณสุขฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2546) เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการโฆษณาสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด สถานพยาบาลเอกชนใดโฆษณาเท็จ โอ้อวดเกินจริง ลด แลก แจก แถม ชักชวนให้ประชาชนเข้ารับบริการต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทจนกว่าจะระงับโฆษณา ทั้งนี้ หากประชาชนพบหรือสงสัยโฆษณาของสถานพยาบาล แจ้งเบาะแสได้ที่เฟซบุ๊ก “มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน” หรือที่กองกฎหมาย กรม สบส. 0-2193-7000 ต่อ 18830 ในวันเวลาราชการ กรมฯจะลงโทษตามกฎหมายโดยไม่ละเว้น