ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง : สินค้าทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์หรือของที่ระลึก ในตลาดท่องเที่ยวแล้วมียอดจำหน่ายสูง ยิ่งสินค้าชนิดนั้นมีความโดดเด่นในเชิงอัตลักษณ์ สื่อลักษณะของชุมชนท้องถิ่น ย่อมได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เพื่อซื้อไว้เป็นที่ระลึก ครั้งหนึ่งเคยมาเที่ยวที่นี่ หรือจะเป็นของฝากทางคุณค่าก็ตาม และนั่น ยังทำให้สินค้าชนิดนั้นสร้างมูลค่าในราคาซื้อขายได้ในมุมเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ กระนั้นก็ดี จะทำอย่างไรให้สิ่งที่เรียกว่าเสน่ห์ในอัตลักษณ์ของชุมชน นำมาออกแบบหรือดีไซน์ให้ร่วมสมัย สร้างมูลค่าสินค้าทางวัฒนธรรม อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมให้ยั่งยืนอีกด้วย อย่างเช่น โครงการฝึกอบรมการเรียนรู้ “อัตลักษณ์ชุมชน สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) โดย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวเปิดฝึกอบรมฯ ไปเมื่อเร็วๆ นี้ว่า โครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม มีแนวทางนำความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัยมาออกแบบสร้างสรรค์ให้กลายเป็นสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม จึงอยากให้ทุกจังหวัดได้ดำเนินการ เพื่อนำอัตลักษณ์ของชุมชนแต่ละแห่งมาต่อยอดสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ได้ โดยสศร.จะจัดวิทยากรให้ความรู้ จากนั้นให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) ประสานงานคนในชุมชน ลงพื้นที่ค้นหาอัตลักษณ์ และนำเสนอผลงาน โดยใช้เวลาทำงานประมาณ 6 เดือน ฝึกอบรมในหลักสูตรเดือนละ 2 ครั้ง โดยช่วงท้ายของโครงการประมาณเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน จะเป็นการนำเสนอผลงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการ นำอัตลักษณ์ในชุมชนมาพัฒนาเป็นสินค้าหรือการบริการทางวัฒนธรรมในลักษณะที่เหมือน หรือไม่เหมือนกันก็ได้ รมว.วัฒนธรรม กล่าวแนวทางการจัดทำโครงการหลักๆ มี 3 ฐานการดำเนินงาน ได้แก่ 1. Area Based ดำเนินการโดยใช้ลักษณะของพื้นที่ในการกำหนดคลัสเตอร์ และเส้นทางสายวัฒนธรรมตามภูมิภาค 2. เรื่องของ Project Based เป็นการนำโครงการเป็นตัวตั้งในการขับเคลื่อน โดยได้เห็นผลสำเร็จของโครงการ 4DNA มาแล้ว ซึ่งทางสศร. ได้ดำเนินการเป็นเวลา 3 ปี ใน 12 จังหวัด ทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ภาคเอกชนในแต่ละจังหวัดนำไปต่อยอดสร้างคุณค่าโดยการนำอัตลักษณ์จากผลงานการออกแบบที่ได้ ไปพัฒนารูปแบบสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดทำขึ้น อย่างเช่นโครงการชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยกระดับจนกลายเป็น บวร On Tour และ 3. ให้ความสำคัญกับกลุ่มบุคคล และในเรื่องของการดำเนินกิจกรรมในสายอาชีพเดียวกันด้วย “การพัฒนาที่ยั่งยืน คือการพัฒนาที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ห้วงเวลาเดียว แต่ยังสามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นในแต่ละยุคสมัยได้ สิ่งเหล่านั้นคือการพัฒนาคุณภาพชีวิต รายได้ เศรษฐกิจ จากทุนทางวัฒนธรรมและรากเหง้าที่สังคมถามหากันมาตลอด การต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมจึงเป็นโครงการที่เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน และต่อยอดจากความสำเร็จจากโครงการที่เคยทำแล้ว ที่สำคัญเข้าถึงผ่านทางสวจ. และต่อยอดไปได้อีกในระยะที่ 2 และ 3 บรรจุเป็นโครงการหลักในปีงบประมาณ 2565 ในการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม เป็นการส่งเสริมทั้งคนดี สังคมดี มีรายได้ เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะเกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน” นายอิทธิพล รมว.วัฒนธรรม กล่าว นำอัตลักษณ์ท้องถิ่นต่อยอด สู่การพัฒนาสินค้าวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ยั่งยืน