บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) กฎกระทรวงการสอบสวนผู้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พ.ศ. 2563 (1) ขอเท้าความกฎกระทรวงดังกล่าวในภาพรวมของ อปท.ทั้ง 5 รูปแบบ (ประเภท) ได้ประกาศมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ในการดำเนินการสอบสวนพิจารณาวินิจฉัยสมาชิกสภา อปท.หรือนายก อปท. รวมทั้งตำแหน่ง รองนายก อปท. เลขานุการนายก อปท. และที่ปรึกษานายก อปท.ด้วยโดยอนุโลม และรวมการสอบสวนตำแหน่ง ประธานสภา อปท.หรือรองประธานสภา อปท. ด้วยตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.จัดตั้ง อปท. ที่ได้แก้ไขใหม่ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2562 มีข้อสังเกตว่าการประกาศใช้บังคับกฎกระทรวงว่าด้วยการสอบสวนฯ นี้ได้ล่าช้าไปเป็นเวลาถึง 1 ปี 5 เดือนเศษ แน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบต่อการดำเนินการสอบสวนพิจารณาวินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่ของผู้กำกับดูแล อปท. เป็นเวลานาน (2) สรุปความสาระสำคัญ คือ กฎกระทรวงดังกล่าวเป็นกฎหมายฉบับรอง ออกตามความในพระราชบัญญัติแต่ละประเภทของ อปท. จำนวน 5 ประเภท ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 ซึ่งบัญญัติให้ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแต่งตั้ง คณะกรรมการสอบสวน การดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัย กรณีการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมทั้งกรณีการพ้นจากตำแหน่งเพราะกระทำความผิดหรือเพราะเหตุอื่น ของนายก อปท. รองนายก อปท. ประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ เลขานุการนายก อปท. และที่ปรึกษานายก อปท. (3) การสอบสวนในระดับ อบจ.และเมืองพัทยา ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ ในระดับ เทศบาล ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัด ในระดับอบต. ให้อำนาจนายอำเภอเป็นผู้ดำเนินการ สำหรับกรุงเทพมหานคร ให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดำเนินการ (4) กฎกระทรวงดังกล่าวมีบทเฉพาะกาล ตามข้อ 37 ข้อ 38 และ ข้อ 39 คือ (4.1) สรุปข้อ 37 การสอบสวนและวินิจฉัยที่ได้เริ่มดำเนินการไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติจัดตั้ง อปท. แก้ไข พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง อปท. และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่น รองประธานสภาท้องถิ่นสมาชิกสภาท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2554 จนกว่าจะแล้วเสร็จ (4.2) สรุปข้อ 38 การสอบสวนและวินิจฉัยที่ได้เริ่มดำเนินการระหว่างวันที่พระราชบัญญัติจัดตั้ง อปท. แก้ไข พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ จนถึงวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับหากได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่นรองผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่น รองประธานสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2554 ให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตามกฎกระทรวงนี้ หากการสอบสวนและวินิจฉัยดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนใดก็ให้เริ่มนับระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้ง อปท. แก้ไข พ.ศ. 2562 ในขั้นตอนนั้นตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ ไม่ว่าเหตุซึ่งเป็นที่มาของการสอบสวนและวินิจฉัยนั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันที่พระราชบัญญัติจัดตั้ง อปท. แก้ไข พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ (4.3) สรุปข้อ 39 ในกรณีมีเหตุที่ต้องดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัย (1) กรณีสมาชิกภาพของสมาชิกสภา อปท.สิ้นสุดลง (2) กรณีนายก อปท.พ้นจากตำแหน่ง (3) กรณีรองนายก อปท.พ้นจากตำแหน่ง (4) กรณีเลขานุการนายก อปท. และที่ปรึกษานายก อปท.พ้นจากตำแหน่ง และหรือ (5) ในกรณีที่ผู้กำกับดูแลเห็นว่าการปฏิบัติการของ อปท.เป็นไปในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ อปท.หรือเสียหายแก่ราชการ ให้ผู้กำกับดูแล มีอำนาจหน้าที่ในการชี้แจง แนะนำ หรือตักเตือนผู้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการดังกล่าวฯ ทั้ง 5 กรณีนี้ไม่ว่าเหตุนั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันที่พระราชบัญญัติจัดตั้ง อปท. แก้ไข พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ ให้ดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัยตามกฎกระทรวงนี้ โดยให้เริ่มนับระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้ง อปท. แก้ไข พ.ศ. 2562 ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ 3 ความผิดหลักอันเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ที่ผู้กำกับดูแลไม่ต้องสอบสวน (1) เมื่อหลังเสร็จสิ้นจากการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ก.ก.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งไว้กว่า 500 เรื่อง โดยเป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการซื้อเสียง สัญญาว่าจะให้ประมาณ 100 เรื่อง และเป็นที่คาดการณ์ว่า การเลือกตั้งในระดับเทศบาลและ อบต. คงจะมีขึ้นในไม่ช้านี้ กกต.อาจประกาศ วันเลือกตั้งเทศบาลระหว่างวันที่ 21 มีนาคม หรือวันที่ 28 มีนาคม 2564 กกต.แถลงข่าวเมื่อ 14 มกราคม 2564 สรุปว่า จะประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งจะทำให้ นายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่และพ้นจากตำแหน่งในวันดังกล่าว โดยกำหนดเปิดรับสมัครวันที่ 8 ถึง 12 กุมภาพันธ์ 2564 ลงคะแนนเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2564 สิ่งที่น่าวิตกอีกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 เป็นการส่งสัญญาณให้ผู้มีอำนาจกำกับดูแลอย่างผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเร่งมือในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการฝ่าฝืนกฎหมายหรือฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อยที่ยังค้างคาอยู่ในความรับผิดชอบของผู้กำกับดูแลให้เสร็จสิ้นก่อนสัญญาณการเลือกตั้งจะมีอย่างเป็นทางการในเร็ววันนี้ ซึ่งอย่าลืมว่าได้มีสำนวนการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่นรวมสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ค้างมาแต่เดิมอยู่จำนวนหนึ่ง (2) หลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือแจ้งจังหวัดว่า ผู้กำกับดูแล อปท. สามารถใช้สำนวน ป.ป.ช. ลงโทษถอดถอนนายก อปท.ได้โดยไม่จำต้องสอบสวนหรือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีก ตามมาตรา 98 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้พิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก โดยให้ถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหา โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า นายก อปท.เป็นเจ้าหน้าที่รัฐตามมาตรา 98 วรรคหนึ่ง กระทรวงมหาดไทยก็ได้มีหนังสือแจ้งเวียนจังหวัดต่างๆ ยืนยันข้อกฎหมายที่ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนสามารถพิจารณาโทษนายก อปท. ได้โดยมิต้องสอบสวนอีก (3) แต่การชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องปรากฏ 3 ความผิดหลักอันเกี่ยวกับ (3.1) การทุจริตต่อหน้าที่ (3.2) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือ (3.3) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม แต่เห็นว่านายก อปท. เป็นผู้ถูกกล่าวหาซึ่งไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับวินัยตามมาตรา 98 วรรคสี่ ซึ่งเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดในเรื่องที่ถูกกล่าวหานั้น ให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0804.3/ว 51 ลงวันที่ 5 มกราคม 2564 โดยมิได้เห็นว่า นายก อปท. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 98 วรรคหนึ่งดังเช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. (4) สะท้อนให้เห็นข้อจำกัดประการหนึ่งว่า บทบัญญัติแห่งมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่ได้เปิดช่องให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนสามารถเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทบทวนมติของตนในกรณีที่ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนมีพยานหลักฐานใหม่อันแสดงได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้มีการกระทำความผิดตามที่กล่าวหาหรือกระทำความผิดในฐานความผิดที่แตกต่างจากที่ถูกกล่าวหาให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ในทางปฏิบัติจะไม่มีผลใช้บังคับใช้ไปโดยปริยาย ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและความล่าช้าของผู้กำกับดูแล (1) ประสบการณ์การสอบสวนพิจารณาที่ล่าช้าในคุณสมบัติและพฤติการณ์ฝ่าฝืนกฎหมายของผู้บริหาร อบจ. ที่ล่าช้าจนกระทั่งบรรดาผู้บริหาร อบจ. หลายคนได้พ้นจากวาระ บางคนหวนกลับมาดำรงตำแหน่งในวาระใหม่ และบางคนได้สอบตกในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้พบเห็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของเหล่าผู้กำกับดูแลซึ่งเป็นเรื่องที่พบเห็นอยู่เป็นประจำก็คือ การพิจารณาความผิดต่างวาระของผู้บริหาร อปท. ที่เดิมคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เคยมีความเห็นเรื่องเสร็จที่ 1081/2558 ซึ่งสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 327/2550 ความว่า หากเป็นกรณีที่ส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวหาขาดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้งแล้ว เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกเมื่อใด ผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมต้องสอบสวนให้ได้ความประจักษ์และมีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้ (2) แต่ด้วยกฎหมายจัดตั้ง อปท.ที่ได้แก้ไขใหม่ในปี 2562 ได้มีการแก้ไขข้อขัดข้องในเรื่องดังกล่าวทุกฉบับ โดยกำหนดให้สามารถดำเนินการสอบสวนเพื่อสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้ แม้ว่า ผู้นั้นจะได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม เว้นแต่เพราะเหตุตาย ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้มีอำนาจกำกับดูแลและถอดถอนนายก อปท. จึงต้องสอบสวนให้ได้ความว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกสอบสวนหรือไม่ ไม่ว่าผู้นั้นจะได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อนแล้ว หรือไม่ก็ตามเว้นแต่เพราะเหตุตาย หรือพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเกินสองปี (3) เชื่อว่า การพิจารณาเรื่องร้องเรียนคงค้างต่างๆ ของนายกเทศมนตรีและนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในหลายจังหวัดอาจเสร็จสิ้นไม่ทันการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ และคงเกิดปัญหาในทางปฏิบัติตามมาอย่างแน่นอน (4) สิ่งที่น่ากังวลกลับมิใช่การพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่างวาระที่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยชัดแจ้งเท่านั้น หากแต่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาล่าช้านี้ หากส่งผลให้ผู้บริหาร อปท. ต้องพ้นจากตำแหน่งที่ได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งต่างวาระ ซึ่งอย่างน้อยคงเป็นการดำเนินการเลือกตั้งใหม่ที่ใช้งบประมาณมหาศาลนั้น เป็นความรับผิดชอบของผู้ใด เนื่องจากต้นสังกัดของผู้กำกับดูแลมิได้เป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณในการเลือกตั้งแต่อย่างใด หากแต่เป็น อปท. (5) ความล่าช้าในการพิจารณาของหน่วยงานต่างๆ ถูกอ้างถึงระยะเวลาตามกฎหมายซึ่งถูกกำหนดให้เป็นระยะเวลาเร่งรัด มิใช่ระยะเวลาบังคับตามกฎหมาย ซึ่งหากเป็นระยะเวลาเร่งรัดย่อมไม่ส่งผลให้เกิดความไม่ชอบของการกระทำทางปกครอง ทำให้การกล่าวอ้างว่าเป็นเพียงระยะเวลาเร่งรัดถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างบ่อยครั้ง โดยในความล่าช้านั้น บางครั้งเป็นระยะเวลาล่าช้าเพราะเกิดแดนสนธยาในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งเต้น การประวิงเวลา ความขัดแย้งภายในหน่วยงานรัฐเองที่แท้จริงแล้วหาผู้รับผิดได้ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการหาผู้รับผิดแต่อย่างใด กลับถูกปล่อยให้ความล่าช้าเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าสวนทางกับเจตนารมณ์ในการร่างกฎหมายอย่างชัดเจนและไม่เคยมีแนวคิดจากหน่วยงานที่จะแก้ไขแต่อย่างใด การเซ็ตซีโร่และการเตรียมการสมัครรับเลือกตั้งเทศบาล (1) ที่ต้องยกเรื่องการสอบสวนพิจารณาผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ใช้วิธีการสอบสวนตามกฎกระทรวงโดยอนุโลมดังกล่าวมาเป็นประเด็น ก็เพราะ นับแต่วันนี้ไป “นักเลือกตั้งท้องถิ่น” (เทศบาล) ทั้งหลายคงต้องมานั่งลุ้นและตรวจสอบใน “คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามฯ” ในการสมัครรับเลือกตั้งใน 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มผู้จะสมัครนายกเทศมนตรี และ (2) กลุ่มผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งไม่รวมถึงว่าที่ “รองนายกเทศมนตรี เลขานุการนายกเทศมนตรี และ ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี” ที่ต้องพ่วงติดตามมาพร้อมกับการสมัครนายกเทศมนตรีด้วย โดยเฉพาะคุณสมบัติต้องห้าม หรือ “บุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” ตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 รวม 26 กรณี ก็เพราะว่าอำนาจในการวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติฯ นั้นเป็นหน้าที่ของ กกต.โดยตรงเท่านั้น (2) หรือ กรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก/สมาชิกสภาฯ ที่ไม่ได้เสียภาษีต้องยื่นหนังสือยืนยันพร้อมใบสมัคร ตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 4/2 หรือ “หนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” มี 5 ตัวเลือก ส่วนผู้ที่ได้ยื่นแบบเสียภาษี สามารถไปติดต่อขอคัดสำเนาแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ 91 ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ตามภูมิลำเนาได้ ใช้หลักฐานการเสียภาษีหรือหนังสือยืนยันฯ ย้อนหลัง 3 ปี ตามมาตรา 51 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งฯ (3) อีกประเด็นที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ การแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกต.ท้องถิ่น) ประจำเทศบาล ซึ่งเทศบาลได้ดำเนินการสรรหาไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว ที่อาจมีปัญหาการต้องรีบกลับมาชำระใหม่ เพราะ บุคคลที่ได้รับการสรรหาไว้อาจไม่อยู่แล้ว กล่าวคือ ย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว ตายแล้ว ฯลฯ เป็นต้น หรือ การเตรียมการในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นในการเลือกตั้งต้องรีบประสานงานขอยืมไว้แต่เนิ่นๆ เช่นขอยืมอุปกรณ์เลือกตั้ง ตะกร้า บอร์ด คูหา เครื่องวัดอุณหภูมิ (ปรอทวัดไข้) กระดานปิดประกาศจาก อบจ. ที่เพิ่งเสร็จสิ้นการเลือกตั้งไปหมาดๆ เพื่อประหยัดงบประมาณ เหล่านี้ เป็นต้น ซึ่งอาจมีประเด็นปลีกย่อยในรายละเอียดที่คน อปท. “นักจัดการเลือกตั้ง” ที่เชี่ยวชาญคร่ำหวอดในการเลือกตั้งระดับพื้นที่มานานแล้ว ต้องใส่ใจและเตรียมพร้อม เพื่อป้องกันปัญหาอุปสรรคใดๆ ที่ไม่คาดคิดย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ (4) การเซ็ตซีโร่ในที่นี้คือการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งของนายกเทศมนตรี และ สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) ทั้งหมดพร้อมๆ กัน ณ วันที่ประกาศให้มีการเลือกตั้ง ทั้งนี้ประเด็นการเลื่อนวันเลือกตั้ง ด้วยข้ออ้างปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ก็เป็นอีกเงื่อนไขสำคัญเช่นกันว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมการระบาดได้ภายในเดือนมกราคม 2564 นี้เพียงใดหรือไม่ นี่เป็นเพียงประเด็นข้อสังเกตเบื้องต้นบางประการที่ “นักจัดการเลือกตั้ง” และ “นักเลือกตั้งเทศบาล” คราวนี้ต้องศึกษาและเตรียมการไว้ให้พร้อม ก่อนการดีเดย์ประกาศให้มีการเลือกตั้งอย่างแท้จริงในเร็ววันนี้