สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ พระเครื่องที่พบ ณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี นับเป็นพระพิมพ์ที่สำคัญและได้รับความนิยมสูงหลายต่อหลายพิมพ์ รวมถึง พระผงสุพรรณ หนึ่งในพระชุดเบญจภาคี และ พระมเหศวร หนึ่งในชุดเบญจภาคีพระยอดขุนพล นอกจากนี้ยังมี พระสุพรรณหลังผาน (หลังพระ) พระสุพรรณยอดโถ พระปทุมมาศ พระกำแพงศอก พระท่ามะปรางค์ พระถํ้าเสือ พระอรัญญิก พระร่วงยืน พระร่วงนั่ง พระลีลาพิมพ์ต่างๆ ฯลฯ ซึ่งล้วนได้รับความนิยมทั้งสิ้น พระมเหศวร มีการค้นพบเฉพาะกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เป็นพระมีเอกลักษณ์โดดเด่น คือ เป็นพระที่มีสองหน้า แต่ละหน้าขององค์พระสวนกัน นาม “พระมเหศวร” นั้น มีตำนานกล่าวขานกันว่า หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในแถบภาคกลางของไทย เช่น ชัยนาท อุทัยธานี และสุพรรณบุรี ได้เกิดชุมโจรออกปล้นสะดมชาวบ้านอย่างชุกชุม ยิ่งตามรอยต่อของทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว จะมีชุมโจรที่น่าเกรงขาม อาทิ เสือฝ้าย และเสือมเหศวร เป็นต้น โดยเฉพาะ “เสือมเหศวร” มีชื่อเสียงโด่งดังมากในเรื่องอยู่ยงคงกระพัน ยิงฟันไม่เข้า เล่ากันว่าเพราะเสือมเหศวรมีพระเครื่องชั้นดีอยู่องค์หนึ่งที่อาราธนาอยู่บนคอตลอดเวลา เป็นพระเนื้อชิน ประทับนั่งปางมารวิชัย สองหน้า นั่งเอาพระเศียรสวนทางกัน สมัยนั้นเรียกกันว่า “พระสวน” สืบต่อมาจึงเอาชื่อของเสือมเหศวรมาเรียกเป็นชื่อพระพิมพ์ว่า “พระมเหศวร” มเหศวรพิมพ์ใหญ่ การค้นพบ การแตกกรุของพระมเหศวรนั้น กว่าทางราชการจะรู้เรื่อง ก็มีชาวบ้านเข้าไปขุดกรุโดยพลการแล้วกว่า 10 วัน ทำให้ทรัพย์สมบัติลํ้าค่ารวมทั้งแผ่นลานทองอันเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์สูญหายไปมากมาย ผู้ว่าราชการเมือง พระทวีประชาชน (อี้ กรรณสูต) ต่อมาเป็น พระยาสุนทรสงคราม จึงได้ตั้งกรรมการขุดกรุขึ้นมาชุดหนึ่ง ได้พระเครื่องพระบูชาเป็นเล่มเกวียน กับลานทอง 3-4 แผ่น ส่งไปให้กรมศิลปากร สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส ทรงแปลอักษรในลานทอง มเหศวร พิมพ์เล็ก พระมเหศวร จัดได้ว่า เป็นพระที่มีพิมพ์ลักษณะแปลกพิมพ์หนึ่งของพระเครื่องเมืองไทย ที่ขุดพบในกรุวัดพระศรีฯ แห่งนี้ เป็นพระเนื้อ ชินเงิน ศิลปะอู่ทอง เช่นเดียวกับพระผงสุพรรณ สันนิษฐานว่าเป็นพระที่สร้างโดยพระมหากษัตริย์เมืองอู่ทอง เนื้อหามวลสาร พระมเหศวร เป็นพระเนื้อชินเงิน หรือ เนื้อชินแข็ง บางองค์มีส่วนผสมของเนื้อตะกั่วมากกว่าเนื้อดีบุก ซึ่งเรียกว่า “เนื้อชินอ่อน” มเหศวรพิมพ์กลาง พุทธลักษณะ พระมเหศวรมีสัณฐานเป็นทรงสี่เหลี่ยม ตรงกลางของด้านข้าง ทำเป็นรอยเว้าโค้งเข้าหาองค์พระ เป็นลักษณะการออกแบบแม่พิมพ์ที่มีมาแต่เดิม นับเป็นความอัจฉริยภาพของช่างโบราณ ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้แตกต่างกันออกไปเดิมๆ ได้อย่างงดงามลงตัว พุทธลักษณะองค์พระประทับนั่ง ปางมารวิชัย สองหน้า นั่งเอาพระเศียรสวนทางกัน ซึ่งปัญหาของ “พระเนื้อชิน” ประการหนึ่งก็คือส่วนพระศอมักจะบอบบาง ทำให้เปราะและหักง่าย การที่ “พระมเหศวร” จัดสร้างโดยเอาส่วนที่เป็นพระศอของพระอีกองค์หนึ่งนั่งสวนทางกันนั้น จึงสามารถลบล้างในส่วนที่เปราะบางได้อย่างสิ้นเชิง โดยสามารถแบ่งออกได้มากมายหลายพิมพ์ อาทิ เช่น พระพิมพ์ใหญ่ ในส่วนของพิมพ์ใหญ่ยังแยกออกได้เป็นพิมพ์ใหญ่ต้อ พิมพ์ใหญ่เศียรโต พิมพ์ใหญ่ฐานสูง พระพิมพ์กลาง พระพิมพ์เล็ก พระแบบสวนเดี่ยว คือมีพิมพ์ด้านหน้าอย่างเดียวไม่มีด้านหลัง พิมพ์สวนตรง คือเป็นพระสองหน้า แต่เศียรพระตรงกัน พระ 2 พิมพ์หลังนี้จะไม่มีปีกด้านข้าง พระมเหศวรทั้งหมดพบแต่ที่เป็นเนื้อชิน ขนาดขององค์พระ ใหญ่สุดจะกว้างประมาณ 2.5 ซม. สูงประมาณ 3.75 ซม. พิมพ์กลางและพิมพ์เล็กมีขนาดและรูปทรงย่อมลงมาเล็กน้อย แทบจะดูไม่แตกต่างกันมากนัก มเหศวรสวนเดี่ยว พระมเหศวรปัจจุบันราคาสูงมากครับ โดยเฉพาะพระสวยๆ และหาเช่ายาก ส่วนใหญ่คนที่มีก็ไม่ยอมให้เช่าต่อง่ายๆ มเหศวรตรงหน้า พุทธคุณ พุทธคุณยอดเยี่ยมด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดมหาอุด โดยเฉพาะด้านคงกระพันชาตรี ครับผม