ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
บางทีพระพรหมก็ไม่ยุติธรรมนักที่ให้คนดีคนเก่งต้องจากไปก่อนเวลาอันควร
พี่จิ๊บหรืออาจารย์พรพิมลย์ทำหน้าที่รักษาการรองอธิการบดีอยู่ 2 ปี จากนั้นก็มีการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ เมื่อได้อธิการบดีตัวจริงแล้วคณะบริหารมหาวิทยาลัยที่มารักษาก็พ้นจากตำแหน่ง พี่จิ๊บก็กลับมาเป็นอาจารย์สาขาวิชาวิทยาการจัดการอยู่อีกช่วงสั้น ๆ ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2546 พวกเรา “ทีมพี่จิ๊บ” ที่ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ยังมีการพบปะกันบ้าง จนตัวผมเองได้เป็นประธานสาขาวิชารัฐศาสตร์ (ในมหาวิทยาลัยอื่นเรียกว่าคณบดี) ใน พ.ศ. 2547 ผมก็ห่างเหินขาดการพบปะกับทีมบ้าง แต่ก็ยังมีนัดไปทานข้าวกับทีมและพี่จิ๊บอยู่บ้างเป็นระยะ ๆ
วันหนึ่งใน พ.ศ. 2548 มีเพื่อนอาจารย์ ในทีมเดินมามาหาผมที่ห้องทำงานแล้วบอกว่า “เกิดเรื่องใหญ่แล้ว” เธอบอกว่าวันก่อนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเห็นมีรถเก๋งคันหนึ่งขับวนเวียนอยู่ในมหาวิทยาลัยหลายรอบ เมื่อไปบอกให้หยุดและสอบถามก็รู้ว่าเป็นอาจารย์พรพิมลหรือพี่จิ๊บของพวกเรา จากการซักถามที่กว่าจะได้เรื่องเพราะคนตอบก็ตอบวกไปวนมาและฟังไม่ค่อยจะปะติดปะต่อ จึงพอจับความได้ว่าพี่จิ๊บขับรถมาที่มหาวิทยาลัยเพียงคนเดียว เพื่อมาที่ร้านทำผมในสโมสรของมหาวิทยาลัย แต่จำสถานที่ไม่ได้แม้จะผ่านสโมสรอยู่หลายรอบ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ติดต่ออาจารย์ที่สาขาวิทยาการจัดการแล้วให้ติดต่อทางบ้าน แล้วลูกสาวก็มารับกลับไปในตอนบ่ายวันนั้น
พวกเรานัดกันได้ 5-6 คนก็รีบไปที่บ้านของพี่จิ๊บในวันรุ่งขึ้น ลูกสาวที่เป็นข้าราชการในกองทัพอากาศออกมาต้อนรับ เธอบอกว่าต้องลางานมาดูแลคุณแม่สัก 2-3 วัน เพราะอยู่ระหว่างหาคนมาดูแล ที่จริงคุณแม่ยังแข็งแรงดี แต่ก็มีอาการหลง ๆ ลืม ๆ อยู่บางเวลา ช่วงก่อนนี้ก็มีเด็กที่จ้างมาดูแลบ้านคอยดูแลคุณแม่ แต่เด็กเพิ่งลาออกไป แต่ก็ยังมีคุณป้าคือพี่สาวของคุณแม่ที่อยู่บ้านติดกันช่วยดูแล เข้าใจว่าวันที่คุณแม่หลงเข้าไปใน มสธ.อาจจะเป็นเพราะความเคยชินและความผูกพันที่ยังเหนียวแน่น ที่ก่อนหน้าที่จะไม่สบายก็มักจะแวะไปที่ มสธ.เสมอ ๆ โดยจะให้เด็กที่คอยดูแลนั่งรถไปด้วย ก็ไม่เคยเกิดปัญหาอะไร เพราะคุณแม่ชอบขับรถ ขับรถเก่ง และระมัดระวังตัวเสมอ
อาทิตย์ต่อมาเราไปเยี่ยมพี่จิ๊บอีกครั้ง เพราะลูกสาวพี่จิ๊บโทรศัพท์มาบอกว่าไม่ยอมลุกเดิน เอาแต่นอนอยู่บนเตียง และไม่ยอมพูดคุยกับใคร เราพยายามหาเรื่องโน่นเรื่องนี่มาคุย แต่พี่จิ๊บก็ยังหลับตานิ่ง หลังจากวันนั้นเราก็ไปเยี่ยมอีก ทีนี้มีคนเสนอว่าควรจะเอาเทปเพลงที่พี่จิ๊บชอบไปเปิดให้เธอฟัง เพราะเคยอ่านมาว่าเป็นวิธีที่จะกระตุ้นความทรงจำและอาจจะช่วยฟื้นความทรงจำได้ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผล เพราะพี่จิ๊บไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบใด ๆ ในขณะที่พี่จิ๊บก็รับประทานอาหารน้อยลง ร่างกายที่ค่อนข้างเล็กอยู่แล้วก็ยิ่งเล็กลงไปอีก จนมีสภาพน่าสงสาร เหมือนเด็กน้อยที่กำลังนอนหลับหลังจากที่มารดาให้นมแล้วกระนั้น
พี่จิ๊บนอนติดเตียงอยู่เป็นปีจนถึงวาระสุดท้าย โดยไม่ได้ทุกข์ทรมานอะไร(บางทีอาจจะทุกข์ด้วยอาการบางอย่างแบบที่ผู้ป่วยติดเตียงทั้งหลายต้องประสบที่ผู้คนภายนอกอาจจะไม่รู้) พวกเราไปรดน้ำและฟังสวดพระอภิธรรมเกือบทุกวัน จนถึงวันพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งก็เป็นไปอย่างสมเกียรติ มีคนที่เคารพรักไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทุกคนกล่าวถึงคุณงามความดีของพี่จิ๊บด้วยความอาลัยอาวรณ์ ในช่วงที่เผาจริงผมสังเกตเห็นชายสูงอายุคนหนึ่งใส่สูทอย่างเรียบร้อย ที่พอจะดูออกว่าเป็นสูทเก่าและคนใส่คงไม่ได้เป็นเจ้าของ ใบหน้าที่เหี่ยวย่นเพราะคงจะตรากตรำทำงานมาอย่างหนัก ยังมีรอยคราบน้ำตาให้พอสังเกตเห็น เมื่อมองอยู่ครู่ใหญ่ผมจึงนึกออกว่าเป็นนักการ(ภารโรง)ของมหาวิทยาลัย ผมจึงเข้าไปจับแขนเพื่อปลอบขวัญ แล้วถามว่ามาคนเดียวหรือ แกตอบว่ามากันหลายคนแต่แกรออยู่เพื่อเผาจริง แกบอกว่าพี่จิ๊บเป็นคนดีมาก ทุกวันปีใหม่พวกนักการจะมีงานเลี้ยงที่จัดกันเอง พี่จิ๊บจะส่งอาหารและขนมต่าง ๆ มาช่วยงานอยู่เป็นประจำ พร้อมของขวัญให้จับสลาก และเวลาที่พวกเขามีความเดือดร้อนหรือเจ็บป่วย พี่จิ๊บก็จะเข้าให้การช่วยเหลือ ไม่เฉพาะแต่เงินทองที่ช่วยอยู่เป็นประจำแล้ว ยังช่วยโทรหาลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นผู้บริหารโรงพยาบาลบ้าง ธนาคารบ้าง ให้ช่วยอนุเคราะห์ในเรื่องต่าง ๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ ลุงนักการคนนี้ยังบอกอีกว่า พรุ่งนี้จะมาร่วมพิธีเก็บอัฐิกับญาติ ๆ ของพี่จิ๊บด้วย เพราะอยากจะมาขออัฐิของพี่จิ๊บไปบูชา
ปีต่อมาเมื่อถึงวันที่พี่จิ๊บเสียชีวิต พวกเราพากันไปทำบุญอุทิศเป็นกุศลให้กับพี่จิ๊บ ที่วัดผาสุกมณีจักร ใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย ซึ่งก็ไม่ได้มีแต่พวกเรา “ทีมพี่จิ๊บ” ที่ไปทำบุญให้พี่จิ๊บ ยังมีบุคลากรกลุ่มอื่น ๆ อีกร่วมห้าสิบคนนัดหมายกันไปอีกด้วย แม้ว่าในบางปี “ทีมพี่จิ๊บ” ของเราจะไม่ได้ไปทำบุญเช่นทุกครั้ง ก็จะมีบุคลากรบางกลุ่มไปทำบุญให้กับพี่จิ๊บนั้นอยู่เสมอ ดั่งว่าพี่จิ๊บนั้นยังอยู่ในความทรงจำของพวกเขาเสมอ
พี่จิ๊บเป็นคนรักต้นไม้และมักจะพูดอะไรที่เป็นปรัชญาชีวิตด้วยการยกตัวอย่างเรื่องต้นไม้ดอกไม้อยู่เสมอ ครั้งหนึ่งหลังการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ พวกเรานัดกันไปปิกนิกที่สวนมะม่วงแถวคลองรังสิตของอาจารย์ที่เป็นเพื่อนร่วมสาขาวิทยาการจัดการและมีวัยอยู่ในรุ่นเดียวกันกับพี่จิ๊บ เราแวะซื้ออาหารจากร้านเจ๊ดำที่คลองสิบ แล้วมาตั้งวงรับประทานกันในสวนมะม่วงที่คลองแปด พี่จิ๊บยังไม่เข้ามาร่วมวงในทันที แต่ได้เดินชมสวนอยู่นานพอสมควร จนพวกเราต้องร้องเรียกอยู่หลายครั้ง แต่พอเข้ามาในวงก็ยังพูดโน่นพูดนี่อยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะพูดข้อความที่ผมเองคิดว่าน่าจะเป็น “โอวาทสุดท้าย” ที่พี่จิ๊บฝากไว้ให้กับพวกเรา
“ปลูกชีวิตก็เหมือนปลูกต้นไม้ ไม่เพียงแต่จะคอยเก็บเกี่ยวเอาแต่ประโยชน์แล้ว ยังต้องคอยทะนุถนอมหมั่นดูแลให้ดีอีกด้วย”