สำหรับมาตรการการช่วยเหลือท่องเที่ยวไทยในเวลานี้หลังจากเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดตั้งแต่รอบแรก เมื่อเดือนมีนาคม 2563 จนมาถึงการระบาดของโควิดระลอกใหม่ช่วงเดือนมกราคมนี้ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ต่างมองไปในทิศทางเดียวกัน คือทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ได้ ลูกจ้างในภาคบริการอยู่ได้ เพื่อประคองให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวผ่านพ้นภาวะช่วงวิกฤตินี้ โดยธุรกิจต่างๆ สามารถลุกขึ้นได้ เพื่อเป็นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติต่อไป หารือภาคเอกชนหาทางออก โดย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ ได้ประชุมหารือกับสมาคมต่าง ๆเช่น สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรม สมาคมการจัดประชุม ได้ข้อสรุปว่าจะมีการผ่อนผันดอกเบี้ยเงินต้น การเข้าถึงซอฟท์โลน และการช่วยเหลือแรงงานในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะในภาคส่วนโรงแรม หลังจากนี้จะไปหารือกับกระทรวงแรงงานเพื่อช่วยเหลือแรงงานประมาณ 4 แสนคน อาจจะทำในลักษณะการแบ่งจ่ายคนละครึ่ง รัฐบาลจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ ผู้ประกอบการจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องไม่ปลดพนักงานออก โดยจะเยียวยาเป็นเวลา 2 เดือน คือเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคม 2564 รวมถึงการติดตามช่วยเหลือสายการบินที่เคยเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องซอฟท์โลน ซึ่งได้มีการสอบถามไปยังกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และยังมีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.หลายครั้ง) เพื่อสามารถเยียวยาได้ทันก่อนที่จะเริ่มมีการเดินทางอีกครั้ง เน้นการช่วยเหลือด้านอุปทาน ด้าน นายกงกฤช หิรัญกิจ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงโควิดระบาดรอบ 2 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 อาจจะต้องชะลอการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวออกไปก่อน เพื่อมาเน้นการช่วยเหลือด้าน อุปทาน หรือผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้อยู่รอดจากผลกระทบโควิดมานานกว่า 9 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ คือการช่วยพยุงสภาพคล่องของธุรกิจ ด้วยการลดการใช้จ่ายเงินใน 3 เรื่องที่เป็น การใช้จ่ายหลักคือ 1.ค่าจ้างแรงงาน 2.ค่าสาธารณูปโภคและภาษีต่างๆ และ 3.ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้น สำหรับการช่วยเหลือค่าจ้างนั้น คงต้อขอให้ภาครัฐ เข้ามาช่วยรับภาระร่วมกับผู้ประกอบการ และ ลูกจ้าง โดยทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพื่อให้สามารถชะลอการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่มีมากถึง 8 ล้านคน ออกไปให้ถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ให้ได้ โดยรัฐบาลอุดหนุนเป็นเงิน 1 ใน 3 ของค่าจ้างที่ไม่เกิน 15,000.- บาท ผ่านระบบประกันสังคม เพื่อสะดวกในการบริหารและตรวจสอบ โดยเป็นการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ค่าน้ำและค่าไฟฟ้า และภาษีต่างๆ เช่น ภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง รัฐบาล ก็ควรลดให้ในอัตราที่ให้เช่นเดียวกับที่ระบาดในช่วงแรกในปี 2563 ด้านการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย รัฐบาลควรถือว่าวิกฤติโควิดนี้ มีผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวอย่างมาก ควรเข้ามาอุดหนุนดอกเบี้ย ให้ต่ำลง โดยการตั้งบัญชีพิเศษเพื่อการนี้ (Public Service Account ,PSA)ผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และมอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาแนวทางขยายระยะเวลาการปลอดชำระคืนเงินต้นออกไปอีกอย่างน้อยถึง เดือนมิถุนายน พร้อมสนับสนุนเงินกู้ซอฟท์โลนเพิ่มเติม เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในรอบที่ 2 เริ่มคลี่คลายดีขึ้น ราวเดือนมีนาคม ให้รัฐบาลเร่งโครงการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวทันที ตามที่ได้มีโครงการต่างๆอยู่แล้ว และควรคิดโครงการขึ้นเพิ่มเติมที่ตรงเข้าไปยังสาขาธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอื่นด้วย นอกจากธุรกิจที่พักแรมและร้านอาหาร เช่นบริษัทนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ หรือธุรกิจสันทนาการต่างๆ เป็นต้น ชัดเจนกับนทท.ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ขณะที่ นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ตอนนี้แต่ละโรงแรมต้องประเมินการปิดกิจการชั่วคราวอีกรอบ โดยเฉพาะโรงแรมใน 5 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น โรงแรมในพัทยาก็ปิดแล้ว ในกรุงเทพฯมีที่ปิดแล้ว ซึ่งธุรกิจโรงแรมมีความท้าทายมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ปีที่แล้ว และต้องมาปิดอีกครั้ง ทำให้ขาดทุนระยะยาวมีผลกระทบมากมาย สำหรับโรงแรมที่ปิดตัวลง ทางรัฐบาลควรให้พนักงานได้รับสิทธิประโยชน์เงินชดเชยประกันสังคม กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจากกองทุนประกันสังคม 50% ของฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท หรือ 7,500 บาทตลอดเวลาที่ปิดด้วย เพราะตอนนี้พนักงานได้รับการชดเชย เป็นส่วนที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่รัฐสั่งปิด เช่น สปา ฟิตเนสในโรงแรม แต่ส่วนอื่นนั้น แม้เจ้าของโรงแรมให้ปิด ก็ยังต้องจ่ายเงินเดือนปกติ “การอุ้มพนักงานให้อยู่รอด เป็นเรื่องที่ต้องการมากที่สุด โดยรัฐบาลควรพิจารณาทำโครงการร่วมจ่ายค่าจ้าง (co-pay) กับโรงแรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจ่ายค่าจ้างครึ่งหนึ่งให้กับพนักงาน หรือสูงสุดเดือนละ 7,500 บาท ระยะเวลา 1 ปี โดยไม่ต้องเป็นพนักงานใหม่ เพื่อรักษาการจ้างงาน มีเงื่อนไขว่า ต้องไม่เลิกจ้างพนักงานคนนั้นเป็นเวลา 1 ปี และไม่ต้องจำกัดวุฒิการศึกษา เนื่องจากคนที่อยู่ในธุรกิจโรงแรม จะดูจากความเชี่ยวชาญในสายงาน” นางมาริสา กล่าว ซึ่งจากการสำรวจโรงแรมที่มีมาตรฐาน 4-5 ดาว ได้เลิกจ้างไปแล้ว 37% ของพนักงานทั้งหมด อีกทั้งในโรงแรมอื่นๆ ก็มีการเลิกจ้างกันทั่วประเทศ และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทางภาครัฐควร รีบให้การรับรองให้ชัดเจนในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว มีการอนุญาตให้เข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องถูกกักตัว 14 วัน