จ.อำนาจเจริญ ได้ดำเนินโครงการเกษตรแปลงใหญ่ (อ้อยประชารัฐ) ซึ่งเป็นการทำเกษตรสมัยใหม่ ภายใต้การใช้นวัตกรรม การวิจัยและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้เกษตรกรใช้ปัจจัยการผลิตและวิธีการปลูกอย่างแม่นยำ รวมทั้งรวมกลุ่มการผลิตเพื่อให้มีแปลงที่เหมาะสมส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น ต้นทุนลดลง สามารถผลิตสินค้าเกษตรที่เทียบเคียงได้กับมาตรฐานโลกและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีพื้นที่เป้าหมายโครงการ จำนวน 7,323 ไร่ รวม 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองอำนาจเจริญ อ.เสนางคนิคม อ.หัวตะพาน โดยปี 2561มีแผนที่จะขยายพื้นที่ปลูกอ้อยจำนวน 30,000 ไร่ นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จ.อำนาจเจริญ มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 25 เปอร์เซ็น อยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสม n หรือ s 3 จึงมองว่า ทำอย่างไรให้พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีทางเลือกที่ดีกว่า จึงมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกอ้อยแทนตามความสมัครใจ อย่างไรก็ตามไม่ได้ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนทั้งหมด จะต้องมีข้าวสำหรับบริโภคด้วย โดยมีกลุ่มน้ำตาลมิตรผลเข้ามาสนับสนุนเกษตรกรในเรื่องปัจจัยการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” ในการใช้เครื่องจักรกลในการปลูกอ้อย และเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อลดต้นทุนและมีผลผลิตที่ดีขึ้น นายสำราญ สาราบรรณ์ “ขณะเดียวกัน กลุ่มน้ำตาลมิตรผลได้เข้ามาสนับสนุนเกษตรกรในเรื่องของการจัดหาปัจจัยการผลิต ผู้รับจ้างผลิต การเก็บเกี่ยว การขนส่งระบบชลประทาน และสินเชื่อรวมทั้งระบบการบริหารจัดการและตกลงการรับซื้อสินค้าเกษตรอ้อยจากเกษตรกรผู้ร่วมโครงการในราคาตามอ้อยโรงงาน 1,050 บาทต่อไร่ และอ้อยพันธุ์ 1,200 บาท/ตัน และค่า C.C.S. ความหวานเกิน 10 ราคาเพิ่ม C.C.S.ละ 63 บาท พร้อมทั้งสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีการปกครองสมัยใหม่” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว ในปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งเป้าว่าต้องการเห็นแปลงใหญ่ จำนวน 1,500 แปลง แต่ตอนนี้รับรองมาแล้วจำนวน 2,505แปลง เกษตรตร จำนวน 300,000 ราย พื้นที่จำนวน3.3 ล้านไร่ ซึ่งเกินเป้าหมาย จำนวน 1,000 แปลง อยู่ใน 10 กลุ่มสินค้า 67 ชนิดสินค้า โดยกลุ่มที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว คือ แมลงเศรษฐกิจ เช่น ผึ้งโพรง ชันโรง จิ้งหรีด ซึ่งจะเพิ่มในความหลากหลายของสินค้ามากขึ้น รวมทั้งปศุสัตว์ ประมง ต่างๆ โดยการดำเนินการในช่วงนี้ที่เริ่มต้นฤดูการผลิตไปแล้ว แต่ละแปลงจะมีการวางแผนร่วมกันในเรื่องการลดต้นทุน และเพิ่มคุณภาพการผลิต และการเชื่อมโยงสู่ตลาดเกือบครบทุกแปลงแล้ว ด้าน นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานอ้อย บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด อธิบายว่า โครงการประชารัฐ ที่ดำเนินการเกษตรแปลงใหญ่อ้อย หรืออ้อยประชารัฐ เป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร โดยมิตรผลเน้นเรื่องของการจัดการแปลง โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เรียกว่า “มิตรผลโมเดิลฟาร์ม” ซึ่งเป็นเทคโลโลยีได้เรียนรู้มาจากประเทศออสเตรเลีย นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับเกษตรกรบ้านเรา โดยยึด 4 เสาหลัก คือ เสาหลักที่ 1.การปลูกพืชบำรุงดิน โดยเฉพาะพื้นที่อีสานเป็นดินทรายมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ทางมิตรผลได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกพืชตระกูลถั่วเป็นหลัก เช่น ถั่วเหลือ ถั่วเขียว และปอเทือง ซึ่งบริเวณนี้ได้ส่งเสริมให้ปลูกถั่วเขียวเป็นหลัก เนื่องจากเกษตรกรจะได้มีรายได้จากการเก็บเกี่ยวผลผลิต “เสาหลักที่ 2.ลดการไถพรวน ส่วนเสาหลักที่ 3.การควบคุมแนววิ่งของรถ และเสาหลักที่ 4. ลดการเผาใบ โดยทางมิตรผลนำรถตัดอ้อยเข้ามาตัดให้เพื่อลดปัญหาแรงงาน นอกจากใบอ้อยที่เกิดจากรถตัดคลุมดินป้องกันวัชพืชแล้วยังลดการใช้สารเคมีลง หรือไม่ใช้สารเคมีเลย เนื่องจากใบอ้อยย่อยสลายแล้วก็จะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้กับแปลงนั้น ทำให้อ้อยในฤดูกาลต่อไปมีผลผลิตดีขึ้น” นายไพฑูรย์ กล่าว นอกจากนี้มิตรผลได้นำกระบวนการจัดการน้ำเข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรวางน้ำหยดหลังปลูกอ้อยทันทีเพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นความงอก เพราะทางภาคอีสานนิยมปลูกอ้อยข้ามแล้ง ซึ่งจะได้รับผลกระทบในช่วงหน้าแล้งระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน ดังนั้นเปอร์เซ็นความงอกหลายแปลงจะต่ำ เมื่อปลูกเสร็จแล้วให้น้ำหยดจะเพิ่มเปอร์เซ็นความงอก เมื่อมีน้ำเหลือสามารถให้น้ำครั้งที่ 2-3-4 ได้เพื่อให้เข้าสู่ฤดูฝน ผลผลิตอ้อยก็จะงอกงาม ขณะที่นายชาญชัย สุภิวงศ์ เกษตรกรเข้าร่วมแปลงใหญ่อ้อยประชารัฐ ต.กุดปลาดุก อ.เมือง บอกว่า ตนมีพื้นที่จำนวน 36 ไร่ แต่เดิมทำนา ปลูกมันสำปะหลังก็ประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำขายไม่คุ้มทุนและเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ จึงปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อยทั้งหมด โดยนำนวัตกรรมการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม มาปรับใช้เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน พบว่าเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 25 จากผลผลิตเดิม 12 ตันต่อไร่ เพิ่มเป็น 15 ตันต่อไร่ อย่างไรก็ตามในอนาคตในแปลงอ้อยของตนจะใช้ระบบน้ำหยดทั้งหมด เพื่อให้ผลผลิตและคุณภาพอ้อยดีและงามตลอดไร่