การเพ้นท์ผ้าปาเต๊ะ เป็นไอเดียเก๋ๆ ของกลุ่มสตรีที่มีความสวยงาม อันเกิดมาจากลวดลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ที่บ่งบอกถึงความเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของผู้คนทางภาคใต้ที่มีคุณค่าอยู่ในตัว นอกจากจะใช้สำหรับเป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว มีใครบ้างจะรู้ว่าหากนำไปทำเป็นอย่างอื่นแล้วก็มีความสวยงามและดูมีคุณค่าไม่แพ้กัน แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือการแต่งแต้มตามจินตนาการ เน้นให้มีลวดลายที่โดดเด่น สดุดตา และสวยงามประณีตต่อผู้พบเห็น เพิ่มมูลค่าให้กับผ้าปาเต๊ะ ด้วยฝีมือในการเล่นสีอะครีลิคผสมสีกากเพชร อีกทั้งเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ดังนั้นในพื้นที่ภาคใต้ จึงมีการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านทำการเพ้นท์ผ้าปาเต๊ะ เพื่อสร้างรายได้สนองตอบต่อความต้องการของตลาด เช่นเดียวกับ กลุ่มสตรีบ้านทุ่งมะขามป้อง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ได้มีการรวมกลุ่มกันเพนท์ผ้าปาเต๊ะ จำหน่ายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน นางพรทิพย์ ทั้นเส้ง ประธานกลุ่มสตรีบ้านทุ่งมะขามป้อม เล่าว่า การ “เพ้นท์ผ้าปาเต๊ะ” ของกลุ่มสตรีบ้านทุ่งมะขามป้อม ได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจำนวน 27,400 บาท โดยไม่ต้องส่งคืนกองทุนฯ เพื่อนำมาต่อยอดการดำเนินงานของกลุ่มให้มีความมั่นคงมากขึ้น สร้างรายได้เสริมกู้วิกฤตราคายางพาราตกต่ำ มีรายได้เลี้ยงครอบครัวหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วคนละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งปัจจุบันกลุ่มสตรีบ้านทุ่งมะขามป้อมมีสมาชิกทั้งหมด 19 คน นางพรทิพย์ อธิบายว่า ผ้าปาเต๊ะมี 2 ชนิด คือ ผ้าอินโดนีเซีย และผ้าปาเต๊ะธรรมดา ผ้าอินโดนีเซีย เป็นผ้าลักษณะความกว้างความยาวมากกว่าผ้าปาเต๊ะธรรมดา ผ้าปาเต๊ะธรรมดา จะอยู่ที่ความยาว 2เมตรต่อ 1 ผืน สามารถตัดผ้าถุงได้เพียง 1 ผืน ส่วนผ้าอินโดนีเซีย จะสามารถตัดทำผ้าถุงสำเร็จได้ 1 ผืน และเสื้อได้อีก1 ตัว “จุดเด่นของการเพ้นท์ผ้าปาเต๊ะของกลุ่มสตรีทุ่งมะขามป้อมคือ การเขียนลายเองเพ้นท์สีเองและรับประกันว่าสีไม่ตกเพราะใช้สีอะครีลิคในการเขียนผ้า ทั้งนี้ราคาผ้าปาเต๊ะที่เป็นผ้าถุงต่อ 1 ผืน เขียนลายพร้อมบรรจุภัณฑ์ใส่กล่องสวยงาม ราคา 1,500-2,000 บาท แบบที่ลูกค้านิยมส่วนมากจะเป็นผ้าปาเต๊ะธรรมดาที่เป็นผ้าถุงเย็บสำเร็จรูปแล้ว เพราะง่ายในการสวมใส่ของลูกค้า และจัดส่งสินค้าไปยังร้านค้าประจำที่ จ.เพชรบูรณ์ และออกบูธตามงานต่างๆ ที่รัฐบาลจัดให้มีขึ้นตามเทศกาลต่าง ๆ เช่น ที่เมืองทองธานี งานโอทอปซิตี้ โอทอปมิดเยียร์ และโอทอบตามจังหวัดต่างๆ” อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการผลิตสินค้าของกลุ่มสตรีบ้านทุ่งมะขามป้อม มีหลากหลายรูปแบบหากเศษผ้าปาเต๊ะเหลือจะนำมาตัดเป็นกางเกงเด็ก, กระโปรงของเด็ก, กระเป๋า, รองเท้า และหมอน ฯลฯ ราคาไม่แพง ถ้าเป็นรองเท้าราคาคู่ละ 69,79 บาท (ขึ้นอยู่กับขนาดไซส์) กระเป๋าเป้ใบละ 200บาท, กระเป๋าทรงสี่เหลี่ยมใบละ 400 บาท, กระโปรงเด็ก 50 บาท, กางเกงชาวเล 270 บาท และผ้าบาติกเพ้นท์ลายเพิ่ม 600 บาท ทั้งนี้ช่วยสร้างรายได้ของกลุ่มปีละกว่า 2 แสนบาท เดือนละ 15,000 บาท สุดท้ายทางกลุ่มสตรี “เพ้นท์ผ้าปาเต๊ะ” ได้ฝากถึงหน่วยงานภาครัฐของ จ.ตรังว่า ขอให้มีการประชาสัมพันธ์และช่วยส่งเสริมรณรงค์ให้ประชาชนร่วมสวมใส่ผ้าปาเต๊ะ เนื่องจากเป็นผ้าที่เริ่มนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ทองขาล กันหาจันทร์ / ตรัง