นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ประกาศแผนบูรณาการการศึกษาทั่วประเทศเป็นนโยบายหลักในปี 2564 โดยมีเป้าหมายพลิกการศึกษาทุกตารางนิ้วของประเทศ ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเชื่อมโยงทั้งองค์กร อิงตามแผนพัฒนายุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี เน้นความสอดคล้องกับบริบทของแต่ละจังหวัด ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจพบว่าโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กว่า 15,000 โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120คน การบริหารจัดการด้านงบประมาณที่มีอยู่ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดสรรบุคลากรทางการศึกษาไม่สามารถทำได้ทั่วถึง ส่งผลต่อการเรียนการสอนที่ให้ประสิทธิผลของผู้เรียน นอกจากนี้ จากสถิติการเกิดของเด็กในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ลดลงสวนทางกับจำนวนโรงเรียนที่มีเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการบริหารจัดการให้มีความสอดคล้องเท่าทันไปกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งนี้ จึงได้มีแผนบูรณาการการศึกษาทั่วประเทศ มีเป้าหมายยกระดับการศึกษาในทุกตารางนิ้วของประเทศไทย โดยวางแผนให้มีการบริหารจัดการงบประมาณที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างโรงเรียนคุณภาพให้กับชุมชน มีพื้นที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้และทำกิจกรรม สร้างตึกและอาคารเรียนที่ได้มาตรฐานระดับสากล จัดสรรบุคลากรทางการศึกษาในระบบให้เข้าถึงในทุกโรงเรียน ซึ่งการบริหารจัดการแผนบูรณาการการศึกษาในครั้งนี้มุ่งเน้นการทำงานที่เชื่อมโยงประสานกันของบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ โดยแผนการดำเนินงานไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาเท่านั้น แต่ยังดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศและบริบทของแต่ละจังหวัดอีกด้วย “หลังจากที่ผมได้ลงพื้นที่และศึกษาข้อมูลกว่า 1 ปีที่อยู่ในตำแหน่ง ต้องยอมรับว่าได้พบปัญหาในการบริหารจัดการการศึกษาให้มีคุณภาพอยู่มาก การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จึงเป็นการรื้อระบบการศึกษา เพื่อสร้างคุณภาพใหม่ทั้งระบบ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับเด็กๆ โดยใช้ความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรทางการศึกษาที่มีอยู่ทั้งหมดของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งแผนบูรณาการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน" รมว.ศึกษาธิการกล่าวและว่า "ผลการดำเนินงานครั้งนี้เด็กๆ จะไม่เพียงได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกในเรื่องของสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น แต่จะได้รับการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพจากการที่มีครูครบชั้น ครบวิชา ในแต่ละโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนที่สามารถจัดการทำกิจกรรมต่างๆ ด้านคุณครูเมื่อครูครบชั้นก็จะลดเวลา ลดภาระงานและพุ่งเป้าหรือให้ความสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนให้กับเด็กๆ ได้มากขึ้น" รมว.ศธ.กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องคิดจากนี้ต่อไปก็คือเราจะใช้พื้นที่โรงเรียนบางส่วนในการพัฒนาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่การเรียนรู้เพิ่มเติมสำหรับเด็กๆ การสร้างคอมมูนิตี้หรือหอพักสำหรับคุณครู หรือมุ่งหวังถึงการเป็นพื้นที่สำหรับพัฒนาทักษะๆ เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนในชุมชนให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละจังหวัดอีกด้วย สำหรับแผนบูรณาการการศึกษาดังกล่าว ได้มีการลงพื้นที่สำรวจและพัฒนาโดยใช้พื้นที่ จ.ภูเก็ต เป็นต้นแบบ ซึ่ง จ.ภูเก็ตมีความโดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวและบริการ โดยเฉลี่ยแต่ละปีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า18% เลือกเดินทางสู่ จ.ภูเก็ต สร้างรายได้กว่า 29% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งประเทศ ดังนั้น แนวทางการพัฒนาการศึกษานอกจากจะมุ่งเน้นทางด้านวิชาการแล้ว ก็มีแนวคิดที่จะเสริมทักษะด้านภาษาที่สองและสามให้กับนักเรียน นักศึกษา สร้างโรงเรียนฝึกอาชีพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น แนวทางการพัฒนาโรงเรียนใน จ.ภูเก็ตได้วาง 3 แนวทางหลัก คือ 1.โรงเรียนคุณภาพชุมชนระดับประถมศึกษา 2 .โรงเรียนขนาดเล็กที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ (Stand Alone) 3.ยกระดับโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง จากการศึกษาเบื้องต้นตามแผนพัฒนาโรงเรียนใน 3รูปแบบส่งผลให้เงินงบประมาณให้กับโรงเรียนใน จ.ภูเก็ต สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ จากการประชุมได้มอบหมายให้ตัวแทนจากทั้ง 77 จังหวัดได้ทำแผนพัฒนาในจังหวัดของตนเองเพื่อนำเสนอแนวทางพัฒนา รวมถึงการพิจารณาวางแผนงบประมาณที่ต่อเนื่องต่อไป