น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ในปี 2564 สนค. จะเดินหน้างานสำคัญ 3 ด้านที่ได้วางรากฐานไว้แล้วคือ งานยุทธศาสตร์ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ แต่จะกำหนดแผนงานให้ตอบโจทย์นโยบาย 14 ประการของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ให้ละเอียดขึ้น และปรับแผนงานให้รองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจการค้าไทยในอนาคต ทั้งนี้งานสำคัญส่วนแรกคือ การกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายการค้า (Strategy) เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าไทยเช่น สงครามการค้า โรคโควิด-19 เทคโนโลยีสมัยใหม่ และประเด็นด้านสังคมสิ่งแวดล้อมและประชากร โดย สนค.ได้ศึกษาประเด็นเหล่านี้มาเป็นระยะ และในปี 2564 จะรวบรวมงานศึกษาทั้งหมดจัดทำยุทธศาสตร์การค้าฉบับแรกของไทยสำหรับปี 2564 – 68 ซึ่งในชั้นนี้ มีร่างฉบับแรกแล้ว แต่จะหารือกับภาคส่วนต่างๆให้ครอบคลุมประเด็นต่างๆให้มากที่สุด โดยรองนายกฯ ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานการดำเนินการหารือ อีกทั้งได้สั่งการให้กำหนดรายละเอียดเป้าหมายด้านต่างๆให้ชัดเจน เช่น การพัฒนาภาคบริการ การเจรจาความตกลงการค้า การจัดทำแผนงานที่หน่วยงานต่างๆต้องดำเนินการต่อไป เป็นต้น ซึ่งจะเริ่มกระบวนการหารือในปลายเดือนมกราคมนี้ และรายงานต่อคณะกรรมการร่วมภาครัฐ-เอกชน กระทรวงพาณิชย์ (กรอ. พณ.)ต่อไป สำหรับงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจภายในของไทยนั้น สนค.ได้เริ่มวางฐานด้านการสร้างระบบข้อมูลการค้าขนาดใหญ่ (Trade Intelligence System) เพื่อให้ผู้บริหาร เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ตลอดจนนักวิเคราะห์ด้านต่างๆใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายการค้าที่เหมาะสมผ่านแพลทฟอร์ม www.คิดค้า.com ซึ่งปี 2564 นี้จะเร่งการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภูมิภาคต่างจังหวัดเข้ามาส่วนกลางและเชื่อมต่อกับข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีระบบข้อมูล Big Data ภาคเกษตร ภายใต้นโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ที่ ผอ.สนค.เป็นประธานคณะอนุกรรมการร่วมกับเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ซึ่งจะมีการประชุมนัดแรกในวันที่ 19 ม.ค.นี้ นอกจากงานด้านข้อมูลแล้ว สนค.จะเดินหน้าหารือกับกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม ผู้ประกอบการ SME ในต่างจังหวัดเพื่อกำหนดนโยบายสนับสนุนการพัฒนาวิสาหกิจและหาต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่เหมาะสมกับการค้าไทย อีกทั้งจะขยายความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMVT เพื่อเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการไทยต่อไป ทั้งนี้ในส่วนงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) หรือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยพัฒนาเกษตรกรและผู้ประกอบการนั้น โครงการสำคัญของ สนค.ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 คือการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้บล็อกเชน (blockchain) ภายใต้ชื่อ TraceThai.com ซึ่งสินค้านำร่องตัวแรกคือข้าวอินทรีย์ โดยในปีนี้จะขยายสินค้านำร่องให้รองรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ ผักผลไม้อินทรีย์ สมุนไพรอินทรีย์ โดย สนค.จะร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ที่เป็นพาร์ทเนอร์เพิ่มจำนวนเกษตรกรรายย่อย สหกรณ์ และวิสาหกิจกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับดังกล่าวมากขึ้น และเชื่อมโยงกับช่องทางการขายเพื่อให้ตรา TraceThai.com และระบบตรวจสอบย้อนกลับเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดในการขายทั้งในประเทศและส่งออกตามแนวคิดของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ โดยจากนโยบาย 14 ประการของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ที่ประกาศเมื่อวันที่ 8 ม.ค.64 นอกจากงานสำคัญต่อเนื่องข้างต้นแล้ว สนค.จะเพิ่มการวิเคราะห์ศึกษาและทำฐานข้อมูลเพิ่มเพื่อสนับสนุนงานที่เป็นรายสาขาคือ นโยบาย “อาหารไทย อาหารโลก” ที่จะเพิ่มการผลิตและการส่งออกอาหารฮาลาล อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารเทรนด์ใหม่ๆให้มากขึ้น และนโยบายการพัฒนาภาคบริการ โดยเฉพาะบริการด้านค้าส่งค้าปลีก โลจิสติกส์ บริการด้านสุขภาพ ดิจิทัลคอนเทนต์ ร้านอาหาร และบริการด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเป็นบริการเป้าหมายในการพัฒนาต่อไปด้วย ซึ่งมั่นใจว่า แนวนโยบายที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้และ สนค.มีบทบาทสนับสนุนในเชิงยุทธศาสตร์และวิชาการนั้นจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าไทยต่อไปในโลกยุคหลังความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างแน่นอน