NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เผยภาพทิวทัศน์และบรรยากาศยามเย็นบน #ดาวพลูโต โดยระบุ นี่คือภาพถ่ายพื้นผิวของดาวพลูโต ดาวเคราะห์แคระที่อยู่ห่างจากโลกของเรากว่า 5,000 ล้านกิโลเมตร บันทึกโดยยานสำรวจอวกาศนิวฮอไรซันส์ ขณะเข้าทำภารกิจสำรวจดาวเคราะห์แคระพลูโตในระยะใกล้สุดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2558 ในช่วงที่ยานนิวฮอไรซันส์เคลื่อนเข้าใกล้ดาวพลูโตที่สุดที่ระยะห่างจากพื้นผิวดาวประมาณ 18,000 กิโลเมตร นักวิทยาศาสตร์สั่งการให้ยานนิวฮอไรซันส์หันกลับมาเพื่อให้กล้องถ่ายภาพบนยานบันทึกภาพในช่วงเวลาสำคัญ ขณะแสงอาทิตย์สาดส่องลงมายังพื้นผิวของดาวพลูโต คล้ายกับช่วงเวลาที่เกิดแสงสนธยา (Twilight) บนโลกนั่นเอง ทำให้เราได้เห็นชั้นบรรยากาศของดาวพลูโตและลักษณะทางธรณีวิทยาอื่น ๆ เช่น ภูเขาและบริเวณที่ราบเรียบปกคลุมด้วยน้ำแข็ง บริเวณทุ่งราบน้ำแข็งที่เห็นเด่นชัดนี้เรียกว่าที่ราบ Sputnik Planum ดูคล้ายกับธารน้ำแข็งบริเวณกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาบนพื้นโลกของเรา ส่วนภูเขาน้ำแข็งที่สูงต่ำสลับซับซ้อนกันอยู่ทางด้านซ้ายของภาพดังกล่าวเรียกว่า Norgay Montes สูงประมาณ 3.5 กิโลเมตร ดูคล้ายกับภูเขาที่ปรากฏบนโลกของเราเช่นกัน นอกจากนี้ เหนือพื้นผิวของดาว ยังสามารถสังเกตเห็นชั้นบรรยากาศของดาวพลูโต ซึ่งการศึกษาในภายหลังพบว่าชั้นบรรยากาศนี้เต็มไปด้วยแก๊สไนโตรเจนและแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ นอกจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เราได้รับกลับมาจากภาพนี้แล้ว ความสวยงามที่ยานนิวฮอไรซันส์ส่งกลับมายังทำให้เรารู้สึกเสมือนว่าได้ไปอยู่ ณ ที่แห่งนั้นด้วยเลยทีเดียว มาติดตามกันต่อไปว่ายานสำรวจอวกาศลำนี้จะได้ข้อมูลอะไรที่น่าสนใจมาอีกหรือไม่ เพราะนั่นอาจเป็นกุญแจสําคัญที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถไขปริศนาเกี่ยวกับการกําเนิดและวิวัฒนาการของระบบสุริยะของเรา เรียบเรียง : บุญญฤทธิ์ ชุนหกิจ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. อ้างอิง : https://apod.nasa.gov/apod/ap210115.html...”