ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าคนเราเกิดมาแล้วไม่เป็นทุกข์ แต่จะทำอย่างไรให้ไม่ตกลงไปในกระแสของทุกข์นั้น พระพรหมกวี เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร กรุงเทพ ได้เมตตามาแสดงธรรมเพื่อให้คติเตือนใจในช่วงขึ้นศักราชใหม่ในหัวข้อ “พรปีใหม่” บนเวทีธรรมบรรยาย เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ โดย บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ณ ห้อง 1111AB อาคาร ซี.พี. ทาวเวอร์ ถนนสีลม พระพรหมกวี กล่าวถึง การเข้าใจพื้นฐานของพระพุทธศาสนาว่า พระพุทธศาสนา คือ คำสอนของพระพุทธองค์ แล้วคำสอนของพระพุทธองค์อยู่ที่ไหน พระพุทธศาสนาอยู่ที่ตัวเรานี่เอง พระพุทธศาสนาคือร่างกายของเรา การที่เราจะรู้จักพระพุทธศาสนาให้ถ่องแท้ไม่สับสน ต้องรู้จัก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่อยู่ในตัว(อายตนะภายใน) และรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เรื่องราวต่างๆ ที่อยู่ภายนอก โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์(อายตนะภายนอก) ท่านเจ้าคุณแนะนำว่า ชาวพุทธควรตื่นรู้ เข้าใจว่า อายตนะภายในสัมพันธ์กับอายตนะภายนอก ตามีหน้าที่ในการเห็นรูป หูมีหน้าที่ในการฟังเสียง จมูกดมกลิ่นต่างๆ ลิ้นลิ้มรสต่างๆ กายคู่กับสิ่งที่มากระทบ เช่น ลมหนาว อากาศร้อน สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครสร้างขึ้น เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่เราเกิดมาแล้ว แต่เพราะเราประคองสติไม่ดีพอ เมื่อสิ่งเหล่านี้มากระทบแล้วเรากระเทือน ไม่ปล่อยไปตามธรรมชาติ ไปปรุงแต่งให้เป็นชอบ ไปปรุงแต่งให้เป็นชัง เนื่องจากเราเป็นปุถุชนที่ยังหนาด้วยกิเลส จึงเกิดปัญหา ถ้าชอบกิเลสก็จะเกิดเป็นสายดึงเข้ามา ถ้าเป็นชังจะมีปฏิกิริยาผลักออก เราอย่าปล่อยให้ชีวิตของเราถูกกระแสกิเลส ตกอยู่ใต้อำนาจของ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ต้องเอาสติมากำหนด ไม่ปรุงเป็นชอบเป็นชัง เห็นก็แค่เห็น ได้ยินก็แค่ได้ยิน ถ้าเราสามารถระวังอายตนะภายนอกกับอายตนะภายในที่กระทบกันโดยธรรมชาติ ไม่ไปปรุงแต่ง ก็จะไม่เกิดปัญหา พระพุทธศาสนาเน้นการดับทุกข์ จะรู้จักพระพุทธศาสนาให้ถ่องแท้ต้องรู้จักอายตนะภายนอก อายตนะภายใน หรือจะใช้ทางลัดโดยเข้าใจ ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง ไหลเรื่อยไปไม่หยุด เราไม่ได้เป็นผู้กำหนดความเปลี่ยนแปลง เพราะมีการเกิดการตายตลอด ยกตัวอย่างเช่น เล็บของเรา ตัดไปแล้วก็งอกอีก แต่เราไม่รู้สึกว่ามันเปลี่ยนแปลง, ทุกขัง ทุกข์ตัวนี้ไม่ได้หมายความถึงทุกข์ใจ ทุกข์ระทมหม่นไหม้ แต่หมายถึงการอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ แต่เราไม่รู้ว่าเป็นทุกขังเพราะมีอิริยาบทคอยช่วยเรา เช่น การนั่งนานๆ แล้วรู้สึกเมื่อเราก็เปลี่ยนเป็นยืน เมื่อยืนนานๆ แล้วรู้สึกเมื่อยเราก็เดิน พอเมื่อยเราก็กลับมานั่ง อิริยาบทในการเปลี่ยนไปทำให้เรามองไม่เห็นทุกข์ขัง ว่าอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ หรือจะลองดูตัวของเราตอนนี้ แล้วเปรียบเทียบกับภาพถ่ายของเราตอนเด็ก จะเห็นทุกข์ขังที่ชัดเจน, อนัตตา หมายถึงไม่มีตัวตน เหนือการต้านทาน เหนือการบังคับ เช่น บังคับให้ไม่แก่ไม่ได้ ผมบนศีรษะบังคับไม่ให้หงอกไม่ได้ ผิวหนังบังคับไม่ให้เหี่ยวย่นไม่ได้ โดยที่สุดแม้แต่สิ่งที่มองไม่เห็น สัญญา ความจำก็ต้องลบเลือนไป เปลี่ยนแปลงไป ที่เรายังเป็นรูปร่างอยู่เพราะธาตุ 4 สสารยังทำงานอยู่ แต่พอแยกส่วนไปแล้วก็ไม่เป็นเรา เป็นแขน เป็นขา กระดูก น้ำเหลือง ไปคนละทาง ไม่มีสมมติบัญญัติตัวเรา สิ่งนี้คืออนัตตา เพราะไม่มีตัวตน แต่เราไปยึดมั่นเป็นตัวตนเพราะมีคณะสัญญา สำคัญว่าเป็นกลุ่มก้อน นี่ตัวเรา นี่ครอบครัวเรา บ้านเรา เพราะยึดมั่นสิ่งนี้ จึงเกิดปัญหาไม่หยุดหย่อน พระพรหมกวี อธิบายว่า บางคนมีความสุขกายแต่หาความสุขใจไม่มี น่าสังเวช ต้องรู้จัก ปิด ปล่อย เพิ่ม พอ รู้จักปิดหู ปิดตา ลิ้น กาย ใจ ปิดตาท้งคคู่ ปิดหูสองข้าง ปิดปากเสียบ้าง แล้วนั่งสบาย ปล่อยหมายถึงปล่อยวาง อย่ายึดถือไว้ รู้จักเพิ่ม สำรวจตนเองดูว่ามีอะไรพร่อง ก็เพิ่มให้เต็ม ทำความดีบ้าง ไหว้พระสวดมนต์ รู้จักพอ พอไม่เป็นจะเป็นสุขได้อย่างไร ท่านได้ยกตัวอย่างคติของหลวงพ่อเงินวัดดอนยายหอม เขียนไว้หน้ากุฏิว่า “รู้จักพอ ก่อสุขทุกสถาน” รู้จักพอบ้างจะไม่ต้องดิ้นรนจนเป็นทุกข์ สุขใจสำคัญกว่า สุขกายอาจจะขาดไปบ้าง ฝืดเคืองบ้าง แต่ขอให้ใจเราเป็นสุข สำหรับผู้สนใจร่วมฟังธรรมบรรยายดีๆ ในโครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ ติดตามรับชมผ่านระบบ live สด ทุกวันศุกร์ เวลา 12:00-13:30 น. ทางช่องทาง facebook fanpage CPALL และสามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ช่องทางเดียวกัน