วันที่ 15 ม.ค.64 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คกระทุ้ง ผู้บริหาร กทม.ให้นำเงินสะสมปลอดภาระผูกพันจากภาษีประชาชน กว่า 5 หมื่นล้าน มาจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ฉีดให้กับชาวกทม. 8 ล้านคน เป็นเงิน 8,000 ล้านบาท เพราะกทม. มีเงินเหลือกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยอ้างอิงจาก สถานะทางการเงิน ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในรายงานของสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2562 กทม. มีเงินสะสมปลอดภาระผูกพันสูงถึง 53,568 ล้านบาท ประเด็นของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ทำให้ต้องเอะใจกับคำพูดของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ที่ก่อนหน้านี้ ออกมากระทุ้งรัฐบาล ให้รีบต่อสัญญาสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้กับ บีทีเอส.  โดยอ้างเหตุผลว่า กทม. ติดหนี้บีทีเอส ในส่วนของค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เป็นเงินกว่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งกทม.ไม่มีเงินจ่าย และหากไม่รีบต่อสัญญาสัมปทาน บีทีเอส จะฟ้องทวงหนี้ และขู่หยุดวิ่งรถ ล่าสุด พล.ต.อ. อัศวิน ออกมาเปิดเผยให้คนกรุงระทึกใจในยุคโควิด-19 อีกว่า หากยังไม่มีการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว อาจมีการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายในเพดานสูงสุด158บาท ในวันที่ 16 กพ.นี้เป็นต้นไป ที่บอกว่าชักเริ่มทะแม่งๆ ก็เพราะมีหลายภาคส่วนที่ไม่เห็นด้วยในการเร่งรีบต่อสัญญาสัมปทาน ทั้ง ฝ่ายค้าน คณะกรรมาธิการ(กมธ.)คมนาคม สภาผู้แทนราษฎร  คณะการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน แม้กระทั่งกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นกระทรวงหลักในการบริหารจัดการด้านการคมนาคมขนส่ง ก็ยังคัดค้าน เพราะ 1.สัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดปี 2572 เหลืออีกตั้ง 9 ปี ทำไมจึงต้องเร่งรีบขยายสัญญาสัมปทาน ไม่ให้สัญญาสัมปทานหมดไปก่อน 2.ทำไมต้องใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ตาม ม.44 ซึ่งในคำสั่งมีข้อยกเว้น พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน เท่ากับการขยายอายุสัปทาน เป็นการ “ผูกขาด” และ “เอื้อประโยชน์” ให้กับ BTS ใช่หรือไม่? 3.มติของคณะกรรมาธิการวิสามัญ   สภาผู้แทนราษฎร โดยเสียงส่วนใหญ่ ไม่ให้ต่อขยายสัมปทานจนกว่า สัมปทานเดิมจะหมดอายุ และเปิดให้มีการประมูลแข่งขันอย่างเป็นธรรม การฝ่าฝืนจึงเท่ากับไม่เคารพมติของสภาฯ 4.ราคาค่าโดยสารที่ผูกติดกับสัญญาสัมปทานเก่าและใหม่ กำหนดไว้ที่ 65 บาท เหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ เนื่องสัมปทานเดิมถึงจุดคุ้มทุนไปแล้ว ราคาค่าโดยสารจึงน่าจะลดลงได้มาก มีเพียงค่าบริหารจัดการเท่านั้น และเมื่อเทียบกับคนกรุงเทพที่มีรายได้ขั้นตํ่าวันละ 331 บาท ต้องเสียค่ารถไฟฟ้าไป-กลับ ถึง 130 บาท ทั้งที่ภาครัฐสามารถกำหนดให้ราคาถูกลงได้ 5.สัญญาสัมปทานเก่า ที่พยายามหลบเลี่ยง พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ โดย กทม.ไปตั้งบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) แล้วไปจ้าง BTS เดินรถ โดยไม่มีการประมูล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบอยู่ในชั้น ป.ป.ช. ควรรอให้คดีพิพาทสิ้นสุดก่อนหรือไม่ เหตุใด กทม.ถึงยังจะต่อขยายสัมปทานให้กับ BTS อีก หนำซ้ำยังอ้างว่า ดำเนินการตาม ม.44 และให้ถือว่า ทุกอย่างเป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เรื่องนี้ ประชาชนผู้ใช้บริการ บีทีเอส. เกิดความข้องใจ และต้องการคำตอบจากผู้บริหาร กทม. กรุงเทพมหานคร ยังมีเงินสะสมปลอดดอกเบี้ย 53,568 ล้านบาท ตามรายงานของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จริงหรือไม่ ? เหตุใดจึงกล้าโกหกคำโต กับประชาชนว่าไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ให้ บีทีเอส. ซึ่งไปพัวพันการขยายสัญญาสัมปทาน ซึ่งส่อว่าจะทำให้ภาคเอกชนมีกำไรมหาศาลจากการเก็บค่าโดยสารราคาสูง จากคน กรุงเทพ  และปริมณฑล ?  หากยังไม่สามารถตอบคำถามให้เกิดความโปรงใส ในเรื่องเงินสะสมปลอดภาระ 53,568 ล้านบาท นี้ได้ ถึงเวลาที่ประชาชนคนใช้รถไฟฟ้า จะต้องลุกขึ้นมาสะสางปัญหาด้วยมือของตนเอง ผ่านการเข้าคูหา กากบาท ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น  การเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร   ซึ่งแน่นอนเรื่องนี้จะเป็นประเด็นให้ผู้บริหารประเทศควรจะต้องรับฟังเสียงสะท้อนของพี่น้องประชาชน  ผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย ใช่หรือไม่ ?