หมายเหตุ : “ศิริกัญญา ตันสกุล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” โดยได้วิเคราะห์สถานการณ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การปรับตัวของประชาชน ตลอดจนรับมือกับภาวะวิกฤติของรัฐบาล ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีสาระที่น่าสนใจดังนี้ - ในฐานะส.ส.รุ่นใหม่ เรามองการเมือง เป็นอย่างไรบ้างหลังจากที่ได้เข้ามาทำหน้าที่ในสภาฯ ในฐานะที่เข้ามาเป็น ส.ส.สมัยแรก อาจจะไม่ได้เป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อย ซึ่งปกติเราจะมองสภาผู้แทนราษฎร จากมุมคนนอกมาโดยตลอด จะเห็นว่าทำอะไรได้ไม่ค่อยมาก แต่ความจริงแล้วเราก็รู้ว่ามันมีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยในฐานะอำนาจ 3 ฝ่าย แต่อาจจะไม่ค่อยเห็นบทบาทของสภาฯที่ทำอะไรที่ส่งผลต่อประเทศได้สักเท่าไหร่ แล้วหลาย ๆ ครั้ง ผลงานก็เป็นที่ไม่ค่อยน่าพึงพอใจด้วยซ้ำไป แต่นับแต่วันแรกที่ถูกชวนมาลงส.ส. โดยคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พูดอยู่คำหนึ่งว่า “มาช่วยกันรื้อฟื้นความศรัทธาในระบบรัฐสภาไทย” นี่จึงเป็นต้นเหตุที่เราควรจะทำบทบาทเพื่อช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐสภา เพราะความจริงแล้ว สภาฯ สามารถเล่นบทบาทได้กว้างขวาง และสามารถส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนได้ - หลังจากที่ได้เข้ามาทำหน้าที่แล้ว ได้เปลี่ยนความคิดเราได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าย้อนกลับไป พอเข้ามาในสภาฯครั้งแรก ทำให้เกิดความรู้สึกว่าทำไมเราถึงเสื่อมศรัทธากับสภาฯ ไทย ถ้าจำกันได้ วันแรกที่เข้ามาก็คือเรื่องการขอเลื่อนประชุมสภาฯ เพราะยังไม่สามารถตกลงเรื่องของตำแหน่งประธาน และรองประธานสภาฯ ของทาง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลได้ลงตัว แต่พอเข้ามาแล้วก็รู้สึกว่าความสำเร็จหนึ่งที่มองเห็น และจับต้องได้ คือการอภิปรายสภาฯ ที่ใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริง มีการทำสไลด์นำเสนอ ลดการใช้โวหาร หรืออารมณ์ในการอภิปราย แต่ให้เน้นในเรื่องข้อมูลมากขึ้น ซึ่งคิดว่ามันเริ่มจากตอนที่เป็นอดีตพรรคอนาคตใหม่ ถ้าตอนนี้มาดูการอภิปราย จะเห็นว่าทุกพรรคการเมืองก็หันมาใช้แนวทาง และวิธีการนี้มากขึ้น ทุกคนจะมีสไลด์ประกอบการอภิปรายหมดแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นผลจากการที่เราเข้ามาริเริ่มทำแบบนี้ในสภาฯ - ในฐานะผู้แทนของประชาชน เราจะช่วยประชาชนได้อย่างไรบ้าง ในสถานการณ์ การเมือง และสถานการณ์โควิด-19 ระบาดใหม่ ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส.ส.มีหน้าที่ที่จะต้องทำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ให้มีมาตรการทั้งการควบคุมโควิด-19 และมาตรการเยียวยา เราต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ นำเสียงของประชาชนเข้ามาสะท้อน แต่การที่สภาฯ ปิดประชุมไปในขณะนี้ ทำให้ช่องทางที่จะทำงานของเรามีค่อนข้างจำกัดมากขึ้น แต่เป็นที่น่าเสียดาย เนื่องจากเราน่าจะยังเปิดสภาฯ ต่อได้ หรืออย่างน้อยควรมีการประชุมสภาฯ ผ่านระบบออนไลน์ได้ แต่พอปิดประชุม เราก็ยังคงหาทางออกอื่น เพื่อเป็นกลไก แม้ว่าจะยังไม่มีการประชุม แต่เราก็ยังคงยื่นหนังสือเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ผ่านประธานสภาฯ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการเรียกประชุมคณะกรรมาธิการทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อเรียกหน่วยงานต่าง ๆ มาตรวจสอบกระบวนการช่วยเหลือเยียวยา หรือมาตรการควบคุมต่าง ๆ กันอยู่ - คิดว่าบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ ได้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างเต็มที่แล้วหรือไม่ ต้องบอกว่าพยายามที่จะทำ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ฝ่ายนิติบัญญัติควรจะต้องทำ ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ควรจะต้องมีการแก้ไข หรือต้องมีการผ่านกฎหมายอื่น ๆ ที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ แต่เมื่อสภาฯ ปิดไป ก็หมดโอกาสที่เราจะทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ - บทบาทของฝ่ายค้าน เป็นอย่างไรบ้าง ฝ่ายค้านกับรัฐบาล ในยุคที่โลกเปลี่ยนไป ควรเป็นอย่างไร เส้นแบ่งอาจจะต้องบางลงเรื่อย ๆ เราเห็นส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่อาจจะไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ ทำหน้าที่เหมือนเป็นกระบอกเสียงที่จะคอยตรวจสอบรัฐบาลกับเราด้วยในหลาย ๆ โอกาส ยิ่งทำให้สะท้อนว่าหน้าที่ของ ส.ส. ไม่ใช่แค่คุณสังกัดฝั่งไหน และคุณต้องโปรฝั่งนั้นตลอดเวลา หากคุณมีศักดิ์ศรีของความเป็นผู้แทนราษฎร คุณก็สามารถทำงานเหล่านี้ได้หมด ฝ่ายค้านเองก็ไม่ใช่ว่าจะค้านสุดลิ่มทิ่มประตูไปทุกเรื่อง เราพยายามแสดงบทบาทที่สะท้อนเรื่องการเมืองแบบใหม่ที่สร้างสรรค์มากขึ้น ไม่ได้เน้นด่าหรือค้าน แต่ทุก ๆ ครั้งที่เรามีเรื่องอะไรที่เห็นไม่ตรงกับการทำงานของรัฐบาล เราก็จะมีคำคัดค้าน พร้อมเหตุผลที่สนับสนุนเรื่องข้อมูล ข้อเท็จจริง และมีข้อเสนอแนะให้กับทางรัฐบาลด้วยว่าควรจะจัดการอย่างไรกับเรื่องนี้ ขณะที่บางโครงการของรัฐบาลก็เป็นโครงการที่ดี เราก็สามารถแสดงความคิดเห็นว่าเราเห็นด้วยกับรัฐบาลได้ - ปัญหาโควิดที่กลับมาระบาดใหม่ มีอะไรที่เราอยากส่งเสียงเตือนไปยัง "รัฐบาล" และ "ประชาชน" บ้าง ทั้ง เศรษฐกิจ และสังคม ครั้งนี้ต้องบอกว่าความคาดหวังของประชาชนต่อรัฐบาลมีค่อนข้างสูง เพราะการระบาดระลอกนี้ไม่ใช่การระบาดครั้งแรกแล้ว มันเป็นครั้งที่สอง จึงทำให้เกิดความคาดหวังว่ารัฐบาลต้องจัดการได้ดีกว่าเดิม มาตรการต่าง ๆ ต้องมีความชัดเจน ทั่วถึง และจัดการได้เร็วกว่าเดิม ดังนั้นจึงต้องส่งเสียงไปยังรัฐบาลว่าตอนนี้คุณไม่มีข้ออ้างจะทำพลาดเหมือนครั้งที่แล้ว ที่เน้นการควบคุมด้านสาธารณสุขจนปล่อยปละละเลยปัญหาด้านเศรษฐกิจไป รอบนี้ขอให้ตั้งธง และตั้งหลักไว้ในใจเลยว่า เมื่อไหร่ที่มีการควบคุม ก็ต้องมีการเยียวยาควบคู่กันไปทุกครั้ง “ตอนนี้ผ่านมา 20 กว่าวันแล้ว หลังจากเริ่มมีมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้าย หรือปิดสถานที่ สถานประกอบการต่าง ๆ ขอให้รัฐรีบเร่งออกมาตรการเยียวยา อาจจะยังไม่ถ้วนหน้าทั่วประเทศ แต่จังหวัดที่มีการล็อกดาวน์ หรือมาตรการเข้มข้น ก็ควรรีบจ่ายเงินเยียวยาได้แล้ว อย่าให้มันล่าช้าไปกว่านี้” นอกจากนี้เรื่องของการสื่อสาร ควรมีความชัดเจน นี่คือปัญหาต่อเนื่องยาวนานมาก รังแต่จะสร้างความสับสน แม้แต่โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เองที่เคยได้รับความชื่นชม แต่มารอบนี้ก็มีการสื่อสารที่ผิดพลาด ที่อาจจะทำลายน้ำจิตน้ำใจของประชาชนในหลายครั้ง รวมถึงการออกประกาศต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับข้อกำหนดที่ออกมาจากมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งถ้าเราไปอ่านดูแล้วจะรู้สึกว่าตกลงให้ทำอะไรกันแน่ รู้สึกว่ากำกวมมาก และสุดท้ายคือให้อำนาจกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการออกประกาศที่นอกเหนือหรือละเอียดไปกว่าการประกาศตามอำนาจพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพอไปอ่านประกาศของผู้ว่าฯ เมื่ออ่านแล้วยังรู้สึกสงสัยในหลาย ๆ เรื่อง ทุกอย่างไม่สามารถทำให้ประชาชนคลายความกังวลหรือคลายความตื่นตระหนก แล้วสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติได้เลย ทุกอย่างมีแต่ความสับสน เป็นกังวลว่าการออกมาตรการต่าง ๆ ได้คิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้วหรือไม่ เมื่อถึงหน้างานที่ต้องปฏิบัติงานจริงนั้น เขาต้องทำอย่างไร แล้วประชาชนต้องทำอย่างไร กลับมาที่มาตรการเยียวยา ถ้าคุณอยากควบคุมให้เขาทำตามที่รัฐต้องการ คุณต้องมีมาตรการเยียวยา เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจด้วย ไม่อย่างนั้นจะเกิดการดื้อแพ่ง หรือปฏิกิริยาโต้กลับ จะไม่ยอมทำตาม เพราะไปเกี่ยวพันกับเรื่องปัญหาปากท้องด้วย ประเด็นสุดท้าย คือความคงเส้นคงวาของมาตรการ เราเห็นปัญหาเรื่องมาตรการควบคุมบางอย่างบังคับใช้กับตลาดนัด ตลาดชุมชน แต่ไม่บังคับใช้กับห้างใหญ่ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ควรจะต้องเลือกว่าเป็นตลาดนัดหรือว่าห้าง แต่ขึ้นอยู่กับมาตรการรักษาระยะห่าง ซึ่งถ้าทั้ง 2 ฝ่ายทำได้ ก็สมควรเปิด ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่สมควรเปิด แต่การปิดตลาดนัดนั้น ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนตัวเล็กตัวน้อยที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ขายของในตลาด จึงกลายเป็นว่าเกิดความสงสัยของประชาชนว่ากำลังเอื้อให้กับคนที่มีเงิน คนที่เป็นเจ้าของทุน ในการออกมาตรการต่าง ๆ หรือไม่ - มองสถานการณ์หลังโควิด-19 เป็นอย่างไรบ้าง หลังโควิดเราก็ยังไม่ทราบว่าตรงไหนคือจุดสิ้นสุดได้ บางคนบอกว่าวัคซีนมาก็คือจบ แต่จริง ๆ แล้ว วัคซีนไม่ได้มาทีเดียว ฉีดแล้วทุกอย่างจบ แต่มันมีขั้นตอนอีกว่า ถ้าเราฉีด เราจะฉีดให้ครบจำนวนคนที่จะสามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ภายในระยะเวลากี่ปี แผนของรัฐบาลดูเหมือนว่าพยายามจะทำให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี ซึ่งมันอาจจะเนิ่นนานเกินไป ไม่น่าจะทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้แน่ ๆ แต่ถึงแม้ว่าประชาชนในประเทศ จะได้รับการฉีดวัคซีนจนมีภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จะมีภูมิคุ้มกันนี้ และปัญหาเรื่องการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งเคยเป็นรายได้หลักของประเทศไทย ก็อาจจะยังไม่กลับคืนมาจนกว่าประชาชนจะมีความเชื่อมั่น เพราะต้องพิจารณาว่า 1.เมื่อไหร่ที่ได้รับวัคซีนจนครบ จนพอที่จะมีภูมิคุ้มกันหมู่ และ 2.หลังจากที่เรามีแล้ว ประเทศอื่น ๆ มีครบหรือยัง ทุกคนมีแล้ว รูปแบบการเดินทางจะยังเหมือนเดิมอยู่หรือไม่ คนจะหวาดผวาการขึ้นเครื่องบินไปเลย เพราะยังปรับตัวไม่ได้เรื่องสถานการณ์หลังยุคโควิด-19 ที่น่ากลัวคือปัญหาที่จะเรื้อรัง และกลายเป็นแผลเป็นของเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ หลังจากที่มีการล็อกดาวน์ในรอบแรก จนเศรษฐกิจล้มหายตายจากไปเยอะ มันก็จะมีแผลเป็นหลัก ๆ คือ 1.เรื่องหนี้ครัวเรือน และหนี้ SME ที่จะกลายมาเป็นตัวฉุดรั้งที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ เพราะสมมติว่าประชาชนมีหนี้ครัวเรือนมาก ถึงรายได้จะมีเยอะ แต่สุดท้ายแล้วคุณต้องไปชำระหนี้หมด ดังนั้นเวลาที่เราจะกระตุ้นอัดฉีดเม็ดเงินลงไปก็จะได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะจะถูกพวกค่าใช้จ่ายที่จะชำระหนี้มาถ่วงไว้ 2.เรื่องการปิดกิจการมาก ๆ และการเข้าไปช้อนซื้อสินทรัพย์ที่ถูกเทขายออกมาเมื่อมีการปิดกิจการ เราก็จะเห็นจากกรณีของโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมในภาคใต้ ที่การระบาดรอบแรกก็เหนื่อยมากแล้ว พอเจอรอบสองก็ตัดสินใจขายกันไปแล้วกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะสู้ต่อไม่ไหวแล้ว ก่อนหน้านี้ท่องเที่ยวในประเทศยังมาทำให้พอมีชีวิตชีวาอยู่บ้าง แต่พอมีโควิด-19 รอบสอบก็ปิดประตูแล้ว ไม่มีนักท่องเที่ยวภายในประเทศกลับคืนมา สุดท้ายเจ้าของกิจการก็ตัดสินใจเทขาย ซึ่งการเทขายก็มีอยู่แค่ไม่กี่กลุ่มคนที่จะมีเงินสดมาช้อนซื้อไว้ได้ ที่ผ่านมาเราก็เห็นข่าวว่า มีทุนใหญ่เจ้าหนึ่ง ที่นอกจากจะทำธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ก็ยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย พยายามที่จะไปช้อนซื้อเอาพวกโรงแรมที่กำลังประสบวิกฤตินี้แล้วต้องการขายกิจการ นอกจากนี้ยังมีกองทุนจากต่างชาติเช่นกัน เข้ามาเริ่มซื้อของถูกในประเทศไทยจากการที่เศรษฐกิจไม่ดี แล้วต้องปิดกิจการลง แผลเป็นนี้จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจกระจุกตัวมากขึ้น ทุนใหญ่ ทุนต่างชาติก็จะเป็นเจ้าของสินทรัพย์ขนาดใหญ่หมดเลย พวกธุรกิจโรงแรม รายเล็ก รายย่อยที่เคยเป็นของคนธรรมดา ของ SME ก็จะหายไปหมด ทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ความกระจุกตัวทางเศรษฐกิจยิ่งกระจุกตัวมากขึ้นไปอีก - การอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไรแล้ว เราก็ต้องทำให้มันเกิดขึ้น เราจะเห็นว่ารัฐบาลทำผิดพลาดมาเยอะ อย่างไรก็ต้องต่อสู้ให้เกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ได้ ถึงแม้ว่าล่าสุด จะมีประกาศปิดสมัยประชุมวันที่ 28 ก.พ. นี้ แต่การที่เรางดประชุม 2 อาทิตย์นี้ แล้วงดประชุมต่ออีก 2 อาทิตย์หน้า อาจจะต้องมีการขอขยายสมัยประชุมไป ให้ปิดหลังวันที่ 28 ก.พ. แต่ถึงแม้ว่าจะปิดวันที่ 28 ก.พ. เราก็ต้องยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ทันอีกเช่นเดียวกัน เพราะมันเป็นหน้าที่ “ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แน่นอนว่าคนอยากฟังเรื่องการโกงกิน เรื่องทุจริตที่มีลายเซ็นการโกงต่าง ๆ ขอย้ำเป็นปีที่ 2 ว่า การบริหารงานที่ผิดพลาด การตัดสินใจที่ล้มเหลว ก็นำไปสู่ความเสียหายให้กับประเทศชาติได้ ไม่แพ้การโกงกิน การโกงกินอาจจะทำให้เงินโยกย้ายจากกระเป๋าที่เคยเป็นภาษีประชาชนที่รัฐบาลนำไปใช้ ไปอยู่ที่กระเป๋าของคนใดคนหนึ่ง แต่การบริหารงานล้มเหลว การตัดสินใจผิดพลาด ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น มันเสียหายเป็นวงกว้าง แต่ละคนอาจจะไม่รู้สึกว่าได้รับความเสียหายเท่าไหร่ ผลกระทบเท่าไหร่ เพราะมันจะกระจายไปทุก ๆ คน แต่ความเป็นจริงแล้ว เมื่อเอาความเสียหายทั้งหมดนี้มารวมกัน บางทีมันอาจจะมีมูลค่าสูงกว่าการทุจริตที่เราไปจับเสียด้วยซ้ำไป ดังนั้นถึงเวลาที่เราต้องตีแผ่เรื่องความล้มเหลว ความผิดพลาดในการบริหารงานไปพร้อม ๆ กับการจับทุจริตคอร์รัปชันของคณะรัฐมนตรี ด้วย” - ฝากถึงประชาชนในการใช้ชีวิตในสถานการณ์แบบนี้ ทั้งสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์การเมือง ในสถานการณ์โควิด-19 นี้ ขอให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ตื่นตระหนกมากเกินไป แต่เข้าใจ หากประชานจะตื่นตระหนก เพราะข้อมูลข่าวสารที่ทางภาครัฐจัดหาให้อาจจะไม่ทำให้เกิดความวางใจ หรือสบายใจได้มากพอ ขอให้ทุกคนมีสติมากพอ และอย่าตื่นตระหนก พยายามใช้ชีวิตให้เป็นปกติมากที่สุด เน้นเรื่องการดูแลตนเอง ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ ส่วนเรื่องการเมือง เข้าใจว่าประชาชนสะสมความไม่พอใจ กับรัฐบาลนี้มานาน ทางฝ่ายค้านเองก็จะปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบทุกอย่างให้ผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนยังอยู่กับประชาชนให้ได้มากที่สุด และแน่นอนว่า เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อไหร่ สิ่งที่จะตามมาก็คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่แล้ว ขอให้ประชาชนอดทนรออีกสักพัก เพื่อให้ผลของความล้มเหลวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในที่สุด ขอให้ทุกคนรอติดตามต่อไป