ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ความสำเร็จไม่เกิดขึ้นด้วยโชคชะตา แต่ด้วยความฟันฝ่าพยายาม พวกเรามีการประชุมกันทุกวัน พี่จิ๊บหรืออาจารย์พรพิมลดูเหมือนจะเป็น “ศูนย์กลาง” ของทีมงานพวกเรา ด้วยความที่เป็นคนมีน้ำใจและความเห็นใจ อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Sympathy คือความเอาใจใส่และพยายามเข้าใจในชีวิตความรู้สึกของผู้อื่น ทำให้ทุกคนมอบความไว้วางใจให้กับพี่จิ๊บมากขึ้นเรื่อย ๆ บุคลากรที่ถูกกลั่นแกล้งรังแกเข้ามาให้ข้อมูลอยู่เรื่อย ๆ รวมถึงให้การสนับสนุนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัย นอกเหนือจากมาร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารหยุดสืบทอดอำนาจแล้ว ยังช่วยกันรวบรวมทุนทรัพย์มาให้แก่ทีมงาน เพื่อที่จะทำทั้งเอกสารและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในการประชุมในทุกวัน เราต้องใช้เวลาพักเที่ยงและเวลาหลังเลิกงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการเอาผิดในเรื่องการใช้เวลาราชการมาก่อความวุ่นวาย เรื่องที่เราพูดคุยกันก็คือ จะต้องทำอะไรบ้างในแต่ละช่วง เพื่อก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร นอกจากการเผยแพร่ข้อมูล “ความเลวร้าย” ของผู้บริหารผ่านเอกสารใบปลิวที่จัดทำขึ้นเกือบทุกวันนั้นแล้ว ก็ยังมีการจัดประชุมบุคลากรในรูปแบบของการอภิปราย และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือก็ได้เชิญวิทยากรจากภายนอก ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องตัวบทกฎหมายและมีประสบการณ์เกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมถึงการจัดการแสดงในช่วงเวลาพักกลางวันเพื่อ “เรียกแขก” รวมพลให้เกิดการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อสร้างกระแสการชุมนุมในวงกว้าง ซึ่งการแสดงเหล่านี้ได้รับความนิยมมาก เพราะมีทั้งละครสด ลิเก งิ้ว และรีวิวเพลง เรียกว่าเป็น “วาไรตี้” ที่สร้างบรรยากาศให้ผู้คนใน มสธ. เกิดความกล้าหาญ และบำรุงบำเรอจิตใจกันและกัน นอกจากการชุมนุมในมหาวิทยาลัยแล้ว เรายังทำ “โรดโชว์” คือพาบุคลากรไปแสดงพลังตามสถานที่ต่าง ๆ ภายนอกด้วย เช่น ที่ทำงานของกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางท่าน สำนักงานสื่อมวลชนบางแห่ง และที่ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ทำเนียบรัฐบาลคณะของพวกเราได้รับการต้อนรับจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งในขณะนั้น (พ.ศ. 2542) ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับเสียงกรี๊ดกร๊าดจากบุคลากรทั้งสาวมากสาวน้อยอย่างอึกทึก ครั้งหนึ่งขบวนรถบัสของเราถูกตำรวจจราจรสกัดบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ อาจารย์ท่านหนึ่งโทรศัพท์หาลูกศิษย์ที่เป็น “ตำรวจผู้ใหญ่” ก็ได้รับการอำนวยความสะดวกปล่อยขบวนรถให้ไปโดยดี เรียกว่าเราได้ระดมสรรพกำลังทุกด้านเพื่อการต่อสู้ในครั้งนี้ ในส่วนของบุคลากรของมหาวิทยาลัยก็ได้เกิด “วีรบุรุษ - วีรสตรี” ขึ้นหลายคน อันเนื่องด้วยความทุ่มเทและเสียสละของบุคคลดังกล่าว ทั้งที่เสี่ยงชีวิตและเสี่ยงภัยจนน่ากลัวอันตราย แต่คนเหล่านั้นก็ไม่ย่อท้อ และช่วยกันทำหน้าที่ในการชุมนุมโดยไม่เห็นแก่ชีวิต เป็นต้นว่า อาจารย์ผู้ชายท่านหนึ่งเป็นผู้อาสาติดป้ายผ้าขนาดใหญ่ขึ้นบนตัวตึกของมหาวิทยาลัย โดยการปีนป่ายไปตามระเบียงตึกเป็นที่หวาดเสียวมาก แต่ท่านก็ดำเนินการได้สำเร็จทุกครั้ง อีกท่านหนึ่งเป็นอาจารย์ผู้หญิง ท่านอาสาไปเฝ้าบริเวณเครื่องเสียงของคณะผู้ชุมนุม เพื่อไม่ให้ รปภ.ของมหาวิทยาลัยมาถอดปลั๊กหรือสับคัทเอาท์ ถึงขั้นเอามือจับปลั๊กและเอาตัวบังคัทเอาท์ไว้ ถ้าใครขืนเข้ามาเธอก็จะร้องขึ้นด้วยเสียงอันดัง บอกว่าโดนลวนลามจนไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ อีกท่านหนึ่งเป็นอาจารย์ผู้ชายท่าทางขลัง ๆ ที่มาเป็น “เจ้าพิธี” ในกิจกรรมทางไสยศาสตร์บางอย่างที่สร้างความฮือฮาได้มากในหลาย ๆ โอกาส นอกจากนั้นเราก็ยังมีทีม “แม่ยก” ที่คอยช่วยเหลือเสบียงกรัง จัดส่งอาหารการกินให้แก่ทีมงานและคณะผู้ชุมนุมอย่างอิ่มหนำสำราญ ตลอดจนบุคลากร “ตัวเล็กตัวน้อย” ที่เป็นลูกจ้างในหน่วยงานต่าง ๆ มาอาสาช่วยงานอย่างล้นหลาม ยิ่งไปกว่านั้นยังมี “ผู้หลักผู้ใหญ่” ภายนอกมหาวิทยาลัยอีกหลายท่าน ที่ไม่เพียงแต่คอยให้กำลังใจและให้ข้อมูลต่าง ๆ แล้ว แต่ยังให้ “คำแนะนำ” ที่จะดึงผู้บริหารที่ดื้อด้านนั้นให้ลงจากตำแหน่งอีกด้วย พี่จิ๊บเป็นหัวทีมในการจัดทำข้อมูลการทุจริตต่าง ๆ ผมมีหน้าที่เป็นพนักงานขับรถพาพี่จิ๊บและทีมงานไปค้นข้อมูลตามสถานที่ต่าง ๆ ในทีมนี้เราจะมีอยู่ 8 คน บางทีเราก็ไปด้วยกันทั้งหมดโดยรถ 2 คัน บางทีเราก็แยกกันไปเพื่อความรวดเร็วและให้ทันกับกิจกรรมที่จะต้องใช้ข้อมูลเหล่านั้น สถานที่ที่เราไปมีตั้งแต่การไปถ่ายรูปบริษัทของญาติผู้บริหาร การไปค้นโปรไฟล์บริษัทที่กระทรวงพาณิชย์ การไปสืบดูกิจการที่เกี่ยวข้องของบริษัทดังกล่าว การค้นทะเบียนที่ดินกับกรมที่ดิน การไปเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของผู้บริหารบางคน และการเดินทางไปพบกับ “ผู้หลักผู้ใหญ่” หลาย ๆ ท่าน ในตลอดเวลา 4-5 เดือนระหว่างการเคลื่อนไหวนั้น การทำงานสมัยนั้นเป็นไปด้วยความทุลักทุเล อีกทั้งเครื่องมือสื่อสารก็ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนทุกวันนี้ แต่ก็ได้รับการอุปถัมภ์จากอาจารย์ผู้ใหญ่บางท่าน ให้ใช้บ้านของท่านเป็นสถานที่ทำงานของทีมงาน พร้อมด้วยอุปกรณ์ในการทำงานและการสื่อสาร เช่น คอมพิวเตอร์ ปรินเตอร์ และแฟกซ์ จึงทำให้การทำงานของเราเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ การต่อสู้ของพวกเรามาสิ้นสุดลงในตอนปลายปี 2542 ในการประชุมของสภามหาวิทยาลัยที่มีกรรมการเสียงข้างมากลงมติว่า “ว่าที่อธิการบดี” มีปัญหาด้านคุณสมบัติบางอย่าง และเพื่อให้ปัญหานี้จบลงด้วยดีก็ขอให้ว่าที่อธิการบดีนั้น “ถอนตัว” จากการที่ได้รับถูกเสนอชื่อมานั้นเสีย ซึ่งว่าที่อธิการบดีก็ยินยอมด้วยความจำใจ รวมถึง “ยอมจำนน” ต่อกระแสเรียกร้องที่อยู่รายรอบตัวนั้น พวกเราไม่ได้แสดงความยินดีอะไรมากนัก เพราะพวกเราล้วนแต่มีความรู้สึกว่าว่าที่อธิการบดีคนนี้ได้หมดความชอบธรรมไปตั้งแต่วันแรกที่เสนอตัวมาเป็นผู้ท้าชิงในตำแหน่งนี้แล้ว ดังนั้นตลอดเวลาการต่อสู้พวกเราจึงไม่ได้เห็นว่าผู้บริหารคนนี้มีตัวตนอะไร ทั้งนี้การต่อสู้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงเป็นการต่อสู้เพื่อ “ปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัย” ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนผู้บริหาร ซึ่งได้ตายไปจากความรู้สึกของพวกเรามาตั้งแต่ที่ทุกคนได้รับรู้ถึง “ความมัวหมอง” ของอดีตผู้นำคนนั้นแล้ว สภามหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะผู้บริหารชุดใหม่ขึ้นมาเป็นการชั่วคราวระหว่างที่รอการสรรหาอธิการบดีรอบใหม่ พี่จิ๊บถูกขอร้องให้เข้าไปเป็นทีมของคณะผู้บริหารชุดใหม่นั้นด้วย แม้ว่าตำแหน่งรองอธิการบดีที่พี่จิ๊บเป็นอยู่จะไม่ได้มีหน้าที่ในการพัฒนาบุคลากรโดยตรง แต่พี่จิ๊บก็ได้เสนอให้มหาวิทยาลัยจัดทำโครงการที่จะเชื่อมสัมพันธ์ให้บุคลากรมามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันดั้งเดิม รวมถึงขอให้รื้อฟื้นคดีความต่าง ๆ ที่บุคลากรหลาย ๆ คนถูกกลั่นแกล้งรังแก และปรับเปลี่ยนการโยกย้ายให้เกิดความเป็นธรรม รวมทั้งให้เหมาะสมกับการ “ปฏิรูป” มหาวิทยาลัยตามเป้าหมายที่พวกเราได้ตั้งเป้าไว้ สิ่งที่พี่จิ๊บทำไว้ในวันนั้น ผมได้กลับมาทำอีกครั้งตอนที่ผมได้รับตำแหน่งเดียวกันกับพี่จิ๊บในอีก 15 ปีต่อมา