เมื่อวันที่ 14 ม.ค. เวลา 10.00 น.ที่รัฐสถ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาว่า กมธ.ฯ ยังคงเป้าหมายเดิม ที่จะพิจารณาปรับแก้ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ แต่ยังมีผู้แปรญัตติเสนอปรับแก้มามากพอสมควร  หากจำเป็นต้องเลื่อน หรือขอขยายเวลา ก็จะดำเนินการให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด แต่เบื้องต้นกมธ.ฯ ยังคงเป้าหมายเดิม คือ ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ และจะติดตามการประชุมของกมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม รัฐสภา เพื่อพิจารณาไทม์ไลน์ให้คู่ขนานใกล้เคียงกันมากที่สุด เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูในมาตรา 256 จะต้องมีการดำเนินการออกเสียงประชามติด้วย เมื่อถามว่ารายละเอียดที่ ส.ส. และ ส.ว. เสนอให้มีการแก้ไขร่างกฎหมายประชามตินั้น นายสุรชัย กล่าวว่า ส่วนใหญ่ขอให้มีการออกเสียงประชามติล่วงหน้า และการออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักร ซึ่งกมธ.ฯ ได้เชิญผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ถึงข้อดี และปัญหา ทั้งการออกเสียงประชามติล่วงหน้า ที่คล้ายกับการเลือกตั้งล่วงหน้า และการออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักร ที่คล้ายกับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร แต่แตกต่างกันในรายละเอียด เพื่อให้กมธ.ฯ สามารถพิจารณาได้อย่างรัดกุมมากขึ้น          นายสุรชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการพิจารณาถึงรูปแบบการออกเสียงประชามติแบบใช้บัตร ที่กมธ.ฯ เห็นว่า ควรมีการใช้ระบบอิเลกทรอนิกส์มาทดแทน  ซึ่งการเขียนกฎหมายไม่ยาก แต่เราต้องมองถึงผู้ปฏิบัติเขาด้วย ว่าถ้าเราออกกติกาไปแล้ว ความพร้อมทั้งเรื่องงบประมาณ กำลังคน อุปกรณ์ และระบบโปรแกรมสามารถมีความรองรับได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งกมธ.ฯ ได้สอบถามความพร้อมของ กกต.แล้ว พบว่ายังมีข้อจำกัดของระบบ จึงมีความเป็นไปได้ที่กมธ.ฯ จะปรับแก้ไข เพื่อรองรับสภาพการณ์ในอนาคตไว้ด้วย ส่วนประเด็นต่าง ๆ ที่มีการแปรญัตติ และยังไม่ได้ข้อสรุป น่าจะมีการลงมติในช่วงปลายเดือนม.ค.นี้ แต่ในระหว่างการพิจารณา ประเด็นใดที่สามารถลงมติได้ ก็จะดำเนินการเรื่อยไป และมั่นใจว่า จะสามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2- 3 ในที่ประชุมใหญ่รัฐสภาได้ ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวันนี้ (14 ม.ค.) เป็นการประชุมนัดแรก หลังหยุดเทศกาลปีใหม่ และต้องงดการประชุมไปเมื่อสัปดาห์ก่อน จากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรสโควิด-19 ซึ่งการประชุมในวันนี้ มีมาตรการการป้องกัน โควิด-19 อย่างเข้มงวด ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ และจัดเจลแอลกอฮอล์ ทำความสะอาดก่อนเข้าร่วมประชุม นอกจากนั้นมีการเปลี่ยนภาชนะชุดอาหารว่าง และเครื่องดื่ม จากพลาสติก เป็นชาม-แก้วกระดาษ ชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อลดการแพร่เชื้อ และสัมผัส รวมถึงยังอนุญาตให้เฉพาะบุคคลที่เป็นกมธ.ฯเท่านั้น ที่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ โดยงดให้ที่ปรึกษาจากบุคคลภายนอกเข้าร่วมประชุม เพื่อลดความแออัดภายในห้องประชุม