นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะเผชิญแรงกดดันและความกังวลต่างๆตลอดทั้งปี 2563 มูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทยยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เป็น 14.13 ล้านล้านบาท จาก 13.52 ล้านล้านบาทในปี 2562 ซึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรรัฐบาลในขณะที่ตราสารหนี้ประเภทอื่นมีมูลค่าคงค้างลดลง ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาดรองลดลงร้อยละ 5.3 จาก 8.8 หมื่นล้านบาทต่อวันในปี 2562 เป็น 8.3 หมื่นล้านบาทต่อวันในปี 2563 โดยการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวในปี 2563 มีมูลค่ารวม 683,559 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 36 จากปีก่อนหน้าที่มียอดการออกสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1.08 ล้านล้านบาท เกิดจากเงินฝากในระบบสถาบันการเงินเพิ่มสูงขึ้น ทำให้กลุ่มสถาบันการเงินลดการออกตราสารหนี้ ขณะเดียวกันผู้ออกในกลุ่ม Real sector ก็หันไปใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงินมากขึ้น อย่างไรก็ดี พบว่าสัดส่วนการเสนอขายตราสารหนี้ต่อประชาชนทั่วไป (PO: Public Offering) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 28 ของยอดการออกรวมจากร้อยละ 18 ในปีก่อนหน้า ซึ่งหุ้นกู้ที่เสนอขายเพิ่มขึ้นนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอันดับเครดิตดีตั้งแต่ A- ขึ้นไป ส่วนความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคมและความยั่งยืน ทำให้ในปี 2563 การออก ESG bond (ESG: Environmental, Social and Corporate Governance) จากทั้งภาครัฐและเอกชนมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 86,400 ล้านบาท สูงกว่ามูลค่าการออกในปีที่แล้วที่ 30,040 ล้านบาทเกือบ 3 เท่า โดยผู้ออกจากหน่วยงานภาครัฐได้แก่ กระทรวงการคลัง,ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และการเคหะแห่งชาติ เริ่มระดมทุนด้วยตราสารประเภทนี้ โดยมียอดการออกรวม 62,800 ล้านบาท ส่วนผู้ออกภาคเอกชนได้แก่ บมจ.ปตท.,บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่,บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บมจ.ราช กรุ๊ป มียอดการออกรวมทั้งสิ้น 23,600 ล้านบาท ขณะที่ด้านกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 มียอดไหลออก 110,849 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังมียอดการไหลเข้า 46,824 ล้านบาท ทำให้ทั้งปี 2563 มียอดการไหลออกสุทธิ 64,025 ล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 8,212 ล้านบาท และไหลออกสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 72,237 ล้านบาท ทำให้ ณ สิ้นปี 2563 นักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทยอยู่ที่ 857,151 ล้านบาท ลดลงจาก 916,816 ล้านบาท ณ สิ้นปีก่อนหน้า สำหรับเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในปี 2563 ปรับตัวชันขึ้น (Steepen) โดยรุ่นอายุต่ำกว่า 25 ปีปรับลง 1-88 bps ส่วนรุ่นอายุมากกว่า 25 ปี ปรับขึ้น 1-18 bps ทั้งนี้ ช่วงอายุที่ปรับตัวลงมากอยู่ในรุ่นอายุไม่เกิน 1 ปีที่ลดลง 86-88 bps ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ถูกปรับลดทั้งสิ้น 3 ครั้ง รวม 75 bps มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0.50 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 5 ปีและ10 ปี ปรับลง 65 bps และ 21 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 0.61 และร้อยละ 1.28 ณ สิ้นปีตามลำดับ โดยตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2564 คาดว่าบริษัทเอกชนยังคงมีความต้องการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ระยะยาวเพื่อเสริมสภาพคล่องรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และเชื่อว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 ไปตลอดทั้งปีนี้เพื่อประคองเศรษฐกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะกลางมีกรอบที่จำกัดในการปรับตัวขึ้นเนื่องจากสภาพคล่องในระบบยังอยู่ในระดับสูง ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจะทยอยขยับขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ThaiBMA ได้เปิดตัวระบบ Smart Funding Solution ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกบริษัท ผู้ออกตราสารหนี้ในการบริหารจัดการการชำระดอกเบี้ยและเงินต้น วิเคราะห์ต้นทุนและความเสี่ยง จำลองการออกตราสารหนี้รุ่นใหม่ โดยระบบ Smart Funding Solution เป็น Web Based Application ผู้ออกตราสารหนี้ที่ประสงค์จะใช้งานสามารถลงทะเบียนเปิด Account ได้ที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย โทร 0-2257-0357 ต่อ 352-353 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย